Support
Arjan Pong
035 323239, 035 323240, 089 8129392
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ลีลาเหลือเกิน

ArjanPong | 04-09-2556 | เปิดดู 2960 | ความคิดเห็น 0

 

 

                ลีลาเหลือเกิน

 

   

                                   

 

 

 

....เหนื่อยไหมล่ะ? นางฟ้า เสาะหารัก

 

กว่าจะพัก พบความจริง ยิ่งสงสาร

 

ตัวเลือกเยอะ ต่างรุมปอง จ้องกันนาน

 

เอ่ยคำหวาน ปานน้ำเชื่อม เอือมระอา

 

 

 

....คิดว่าเด่น เหนือดาว เเวววาวสุด

 

หากยื้อยุด กวักเรียกใคร ไม่ต้องหา

 

จนเขาเบื่อ เผื่อเลือกไป เผื่อเลือกมา

 

สมน้ำหน้า ไร้รักจริง ทิ้งเดียวดาย........

 

 

 

 

 

***************

 

 

 

บทความนี้เขียนเสร็จก่อนวันที่ 8 กันยายน จากข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ตามสื่อ ในวันนั้นจะมีพระจำนวนถึงหนึ่งหมื่นรูปจากเครือข่ายสำนักใหญ่ในย่านรังสิตเข้ามาปิดถนนจากราชประสงค์ถึงประตูน้ำเพื่อเปิดโอกาสให้คนตักบาตรทำบุญ บ่อเกิดของเนื้อหามาจากข่าวนั้นประกอบกับภาพต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเสริมด้วยภาพที่หาได้ในอินเทอร์เน็ตและของผู้เขียนเอง

การนำพระจำนวนมากขนาดนั้นเข้ามาทำการปิดถนนแบบนี้มีมาก่อนแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นเป็นการปิดย่านสีลม ก่อนนั้นก็มีการธุดงค์ในเมือง (ภาพ) ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากเนื่องจากตั้งแต่ไหนแต่ไรมาพุทธศาสนิกชนต่างเข้าใจกันว่า การธุดงค์เป็นกิจที่พระสงฆ์ออกปลีกวิเวกไปตามสถานที่ห่างไกล มิใช่มาเดินชักเถียวกันนับพันรูปในใจกลางเมืองหลวง ยิ่งกว่านั้น ยังมีการโปรยช่อดอกไม้ที่ใช้ชื่อหวือหวาว่า “ดาวรวย” ให้พระเหยียบไปตลอดทางอีกด้วย คำว่า “ดาวรวย” จะมีนัยว่าผู้ทำจะร่ำรวยอันเป็นการจูงใจหรือไม่ยากที่จะฟันธง แต่มันคงเป็นอย่างนั้น

 
การทำกิจกรรมจำพวกตื่นตาตื่นใจในแนวนี้เป็นฝีมือของนักการตลาดผู้มักเสนอให้จัดกิจกรรมใหญ่ๆ ให้เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “อีเวนท์” (สะกดแบบนี้ตามเสียงของภาษาอังกฤษ event หากสะกดไม่ดีอาจมีเสียงเป็น “อีเวร”) การทำกิจกรรมจำพวก “อีเวนท์” ในปัจจุบันเป็นงานที่มุ่งหวังไปในทางสร้างความสนุกสนานเพื่อเป็นการจูงใจของผู้พบเห็นและเป็นไปในแนวการค้ามากกว่าอย่างอื่น แต่การจัดพระจำนวนพันจำนวนหมื่นมาเดินแบกกลดแบบพระธุดงค์และบิณฑบาตในเมืองเป็นเรื่องใหม่ มันมีผลในด้านการทำให้ตื่นตาตื่นใจแน่นอน แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นการสร้างความเดือดร้อนเมื่อการจราจรติดขัดอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้จึงมีภาพพร้อมกับผรุสวาจาออกมาให้เห็นอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ดังตัวอย่างในรูป

 
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา วัดอาจจัดงานประจำปีซึ่งมีการแสดงจำพวกลิเกและการเล่นท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อชักจูงให้ผู้คนไปชมงานด้วยหวังว่าพวกเขาจะบริจาคปัจจัยให้แก่วัด หรืออาจจะมีการจัดงานจำพวกกฐินและผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาปัจจัยนำไปก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ เมรุและถังเก็บน้ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ นี้มีการขยายงานออกไปเพื่อก่อสร้างอะไรต่อมิอะไรที่ใหญ่โตมากซึ่งทั้งเกี่ยวและไม่ค่อยเกี่ยวโดยตรงกับแก่นของศาสนา จะเห็นว่าตอนนี้มีทั้งสวนพระพิฆเนศขนาดใหญ่ในวัดที่นครนายก โบสถ์อันแสนวิจิตรที่เชียงรายและมหาเจดีย์ที่แสนกว้างใหญ่ในจังหวัดเลยซึ่งตามรายงานใช้เงินไปหลายพันล้านบาท (3 ภาพต่อไป)

 

 


 


 


 
นอกจากนั้น ยังมีการแข่งขันกันสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ในบางจังหวัดให้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย ตอนนี้วัดที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทองเป็นผู้นำ (ภาพ) การก่อสร้างสิ่งเหล่านี้ดูจะมีความเกี่ยวเนื่องกับการสอนและการปฏิบัติตามหลักศาสนาน้อยกว่าการแสวงหาชื่อเสียงของหัวเรือใหญ่ในการก่อสร้างและเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่วนทรัพย์สินเงินทองที่ต้องใช้ไปในการก่อสร้างนั้นแทบไม่มีการพูดถึงแม้บางแห่งจะมีรายงานว่าเป็นหลักพันล้านบาทและเกิดขึ้นในจังหวัดเลยซึ่งยากจนที่สุดในเมืองไทยก็ตาม

 
แนวคิดที่นำไปสู่การทุ่มเทสร้างถาวรวัตถุขนาดต่างๆ นั้นตรงข้ามกับแนวคิดของชาวอามิชในสหรัฐอเมริกา ชาวอามิชเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดถึงขนาดไม่ยอมใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลในการดำเนินชีวิต แต่พวกเขาไม่คิดจะสร้างแม้กระทั่งอาคารที่ใช้ในการประกอบกิจทางศาสนา ฉะนั้น ในงานเทศน์ในวันสุดสัปดาห์ พวกเขาจึงดัดแปลงโรงนาเพื่อใช้ในกิจนั้น รายละเอียดในการดำเนินชีวิตของชาวอามิชอาจหาได้ในหนังสือชื่อ “อเมริกาที่ยังใช้มาเทียมไถ” ซึ่งอาจดาวน์โหลดฟรีได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org หรือจากเว็บไซต์ของคลังข้อมูลสาธารณะ www.openbase.in.th

 
ในสมัยที่ยังไม่มีการศึกษาภาคบังคับ เราทราบดีว่าผู้ที่มีโอกาสเรียนหนังสือคือผู้ที่บวชเป็นเณร หรือเป็นพระและวัดมักมีอาคารเพื่อการประกอบกิจทางศาสนาจำพวกศาลาอยู่แล้ว หลังเกิดการศึกษาภาคบังคับเมื่อปี 2464 ประชาชนคนไทยจึงมักใช้อาคารและสถานที่ของวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนเนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณพอให้และมักต้องอาศัยพระช่วยสอน นั่นคือที่มาของโรงเรียนวัดนั้นวัดนี้รวมทั้งโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมาด้วย

หลังจากเวลาผ่านไปได้เกือบร้อยปี เศรษฐกิจได้พัฒนารุดหน้าไปมาก รัฐบาลได้เข้าไปสร้างอาคารให้แก่โรงเรียนชั้นประถมซึ่งทำหน้าที่ให้การศึกษาภาคบังคับแก่เยาวชนในแต่ละท้องถิ่น แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังตั้งอยู่ในที่ดินของวัด หรือติดกับวัดและยังคงชื่อโรงเรียนไว้ตามเดิม จากนั้นมา การพัฒนาอาคารต่างๆ ของวัดกับอาคารของโรงเรียนก็ค่อยๆ ต่างกันโดยอาคารของวัดซึ่งมักก่อสร้างจากเงินเรี่ยไรมีขนาดใหญ่โตหรูหรา ในขณะที่อาคารของโรงเรียนซึ่งสร้างด้วยเงินงบประมาณของรัฐบาลมักอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยมีอะไรน่าดูเป็นพิเศษ

ภาพ 4 ภาพต่อไปเป็นโรงเรียนของผู้เขียนเอง ในสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ โรงเรียนอาศัยศาลาวัดขนาดเขื่องๆ เป็นห้องเรียนจากชั้น ป. 1 ถึงชั้น ป. 4 (ภาพ 1) เมื่อปี 2500 รัฐบาลได้สร้างอาคารให้เป็นของโรงเรียนเองขึ้นบนเนื้อที่ซึ่งเคยเป็นทุ่งนาติดกับวัด อาคารนั้นยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (ภาพ 2 และ 3) ต่อมารัฐบาลได้สร้างอาคารสองชั้นเพิ่มขึ้นติดกันอีกหนึ่งหลัง ส่วนทางด้านของวัด กุฏิได้รับการปรับปรุงให้ใหญ่และทันสมัยขึ้น มีการก่อสร้างศาลาขนาดใหญ่ เมรุ ห้องครัว ห้องน้ำห้องส้วม และโบสถ์ขนาดใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งหลังทั้งที่หลังเก่ายังอยู่ โบสถ์หลังใหม่ใช้พื้นที่ตรงศาลาเดิมซึ่งถูกรื้อถอน ณ วันนี้ ผู้ที่ไปเยือนโรงเรียนและวัดจะสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างแจ้งชัดเมื่อมองจากจุดที่ถ่ายภาพ 2 และภาพ 4

 
(1) ศาลาหลังนี้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างโบสถ์หลังใหญ่ทางซ้ายมือในภาพ (4)


 
(2) ด้านหน้าของโรงเรียน อาคารทางซ้ายสร้างขึ้นในเวลาต่อมา อาคารทางขวาสร้างเมื่อปี 2500


 
(3) พื้นที่รกร้างว่างเปล่าด้านหลังกำลังถูกพัฒนาให้เป็นสวนครัวและศูนย์เรียนรู้ทางเกษตรอินทรีย์ และสมุนไพรท้องถิ่นด้วยการสนับสนุนของภาคเอกชน


 
(4) โบสถ์สองหลัง เมรุและศาลาถ่ายจากจุดเดียวกันกับภาพ (2)
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไทยได้แก่ความศรัทธาของประชาชนทั้งในและนอกชุมชน คนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาเชื่อว่าการบริจาคทรัพย์สินเพื่อสร้างอาคารและถาวรวัตถุขนาดใหญ่ให้แก่วัดได้บุญซึ่งจะปูทางให้พวกเขาไปสู่สวรรค์ ผู้มีทรัพย์มากๆ อาจบริจาคถึงขนาดสร้างวัดขึ้นใหม่ในย่านที่มีวัดอยู่มากแล้ว บางครั้งก็ไปสร้างในที่ห่างไกล แต่บางวัดหาพระแทบไม่ได้จึงกลายเป็นวัดกึ่งร้างเนื่องจากพระขาดแรงงานที่จะรักษาซ่อมแซมไว้ในอยู่ในสภาพดี ในภาวะที่มีความต้องการพระเพิ่มขึ้นเช่นนี้ คนชั่วย่อมมีโอกาสแฝงตัวเขามาอาศัยศาสนาหากินได้สูง บางคนอาจสร้างอาคารทั้งหลัง หรือสร้างพุทธรูปทั้งองค์ ส่วนใหญ่ไม่มีทรัพย์มากขนาดนั้นแต่ก็เต็มใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมบริจาค ผลที่ออกมาคืออาคารใหญ่โตหรูหรา หรือองค์พระขนาดยักษ์ดังที่มีอยู่ทั่วประเทศ

นอกจากนั้น การที่ประชาชนมีความเชื่อว่าการบริจาคทรัพย์ให้วัดเป็นการสะสมบุญซึ่งจะปูทางไปสู่สวรรค์ทำให้เกิดการหลวกลวงผู้มีศรัทธาในทำนองว่า ยิ่งบริจาคมากเท่าไร ยิ่งไปสู่สวรรค์ชั้นสูงได้เร็วขึ้นเท่านั้น การหลอกลวงในแนวนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องสวรรค์ซื้อหาด้วยราคาต่างๆ ได้

ในด้านการสนับสนุนโรงเรียน ประชาชนส่วนใหญ่มองไม่เห็นความจำเป็นต้องเข้าร่วมเพราะมองว่าไม่ได้บุญ
ในช่วงนี้จึงมีเรื่องเล่าต่อๆ กันอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเศรษฐีที่เป็นเจ้าของโรงเรียนว่า เธอบริจาคทรัพย์จำนวนมากอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างอาคารเล็กใหญ่ในวัดและติดป้ายชื่อเธอไว้ทั่วไปหมด แต่เมื่อเด็กยากจนขาดชำระค่าเล่าเรียนซึ่งเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เธอกลับไล่เด็กออกจากโรงเรียนอย่างไม่ปรานี เรื่องนี้จะมีฐานของความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัด แต่ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนชี้บ่งแบบปราศจากข้อสงสัยในความคิดและกิจกรรมทำบุญและสนับสนุนโรงเรียนของคนไทยว่าต่างกันปานฟ้ากับดิน ความใส่ใจในวัดมากกว่าในการศึกษาของเยาวชนแบบน่าฉงนเช่นนี้คงเป็นที่มาของการศึกษาที่ล้มเหลวอย่างน้อยส่วนหนึ่ง เรื่องนี้กำลังเป็นที่ฮือฮาเพราะชาวโลกมองว่าการจัดการศึกษาของไทยแม้แต่เขมร (ภาพ)

 
เรื่องของความศรัทธาเราว่ากันไม่ได้ แต่ผู้เขียนมองว่า พุทธศาสนิกชนที่ยึดทางสายกลางน่าจะสนใจทั้งในด้านการสนับสนุนโรงเรียนและด้านการสนับสนุนวัดในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เราคงรอให้รัฐบาลทำทุกอย่างเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้แน่ ทั้งนี้เพราะนอกจากรัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงจำกัดแล้ว ความฉ้อฉลของคนทั้งในและนอกราชการยังทำให้การใช้งบประมาณด้อยประสิทธิผลอีกด้วย หากเราเข้าไปช่วยกันสนับสนุนโรงเรียนเท่าๆ กับการสนับสนุนวัด ภายในเวลาไม่นาน การศึกษาของไทยจะไม่ใกล้เป็นที่โหล่ในอาเซียนแน่นอน

 

 

 

  สัมผัสเสน่ห์ของชาวอามิช ชุมชนที่เดินสวนกระแสโลก



 


 


 


 


 


 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการพื้นที่ชีวิต สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

ในขณะที่คนจำนวนมากพยายามแสวงหาความเจริญทางวัตถุ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต กลับมีชุมชนเล็ก ๆ อีกแห่งหนึ่งในโลกใบนี้ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตเฉกเช่นเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว พวกเขาอยู่กันอย่างเรียบง่าย สบาย สงบ และกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ไม่คิดดิ้นรนจะหาวัตถุใด ๆ มาเติมเต็ม แต่ทุกย่างก้าวของชีวิตที่ดำเนินไปเปี่ยมไปด้วยความสุขที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน รายการพื้นที่ชีวิต ทางช่อง Thai PBS ได้พาคุณผู้ชมไปสัมผัสชีวิตที่เรียบง่าย ณ ชุมชนชาวอามิช (Amish) ชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง บนผืนดินเมือง Gap รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา... ประเทศทุนนิยมเสรียักษ์ใหญ่ที่ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง

หากใครเคยได้ยินเรื่องราวของชาวอามิชมาแล้วบ้าง คงจะพอทราบว่า พวกเขานับถือศาสนาคริสต์ นิกายอนาแบ๊ปติส (Anabaptists) ที่ยังเคร่งศาสนา จารีตประเพณีแบบดั้งเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเราก้าวเข้ามาในชุมชนอามิชแห่งนี้ สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าจะไม่ต่างจากภาพของชุมชนเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว นั่นก็คือ ความเงียบสงบบนถนนสายเล็ก ๆ ที่สองข้างทางเพาะปลูกพืช และทำการปศุสัตว์ในแบบดั้งเดิม ขณะที่ชาวอามิชเองก็แต่งตัวเหมือนกับหนังฝรั่งสไตล์ย้อนยุค ขับขี่รถม้าวิ่งไปตามทางบนถนน

ชาวอามิชประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม คือ คนกลุ่มเก่า (Old Order) และคนกลุ่มใหม่ (New Order) โดยคนกลุ่มเก่าจะเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการใช้ไฟฟ้า ยังคงใช้ชีวิตเหมือนกับวิถีชีวิตดั้งเดิมทุกอย่าง และใช้รถม้าเป็นพาหนะเพียงเท่านั้น ขณะที่คนกลุ่มใหม่ แม้จะมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเทคโนโลยี อย่างเช่น โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต พวกเขาใช้ไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างภายในบ้าน ใช้เตาแก๊สในการหุงหาอาหาร และบางบ้านก็จะมีรถยนต์ขับ แต่ยานพาหนะสำคัญก็ยังคงเป็นรถม้าอยู่ดี

 


 


อย่างไรก็ตาม เพราะชาวอามิชเคร่งครัดในคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลที่ห้ามสร้างรูปจำลองเหมือนมนุษย์ ทำให้พวกเขาไม่นิยมถ่ายรูปกันเอง และไม่ชอบให้คนภายนอกมาถ่ายรูปของพวกเขาด้วย แต่ชาวอามิชหลายคนที่เป็นคนหัวสมัยใหม่หน่อยก็ไม่ได้ยึดกฎข้อนี้มากนัก บางคนก็ยืดหยุ่นให้ถ่ายรูปได้ แต่อาจถ่ายในระยะไกล หรือหากจะถ่ายโคลสอัพก็ต้องขออนุญาตเสียก่อน

หลายคนอาจจะมองว่า ชาวอามิชเป็นกลุ่มที่ต้านกระแสของโลก แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจ ยังคงเลือกที่จะเดินไปในจังหวะนี้ ไม่จำเป็นต้องจ้ำอ้าวไปตามโลกที่กำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งชาวอามิชก็มีความสุขที่อยู่ในวิถีชีวิตแบบนี้ เพราะพวกเขามองว่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้พวกเขารู้ว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น และมั่นใจในตัวเอง

หากมองไปรอบ ๆ จะเห็นภาพของเด็ก ๆ ชาวอามิช ทั้งตัวเล็ก ตัวน้อย ช่วยพ่อแม่ทำเกษตรกรรม ดูแล้วเป็นภาพความผูกพันของครอบครัวที่เหนียวแน่น และอาจจะเหนียวแน่นกว่าหลาย ๆ ครอบครัวในสังคมทุนนิยมที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กันเท่าไหร่นัก

คุณยายลิเดีย แลนซ์ ชาวอามิช เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่สอนให้เธอทำงานหนักมาตั้งแต่เล็ก ๆ แต่เวลาเล่น พวกเธอก็เล่นกันอย่างสนุกสนาน แม้เธอจะเคยคิดว่า เราทำงานหนักเกินไปไหม แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มันก็ทำให้เธอรู้สึกดีใจที่พ่อแม่เลี้ยงมาแบบนี้ เพราะทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต

 


 


 

แอน ไบเลอร์

ในการเดินทางมาเยือนชุมชนอามิชครั้งนี้ ทีมงานรายการพื้นที่ชีวิตได้พบกับ "แอน ไบเลอร์" ผู้ก่อตั้งร้านขนมอานตี้ แอนส์ ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก เธอเล่าให้ฟังว่า เธอเคยเป็นชาวอามิชมาก่อน ทุกคนจะถูกสอนไม่ให้ละโมบโลภมาก และให้ศรัทธาในพระเจ้า สมัยที่เธอยังเด็ก เธอก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กอามิชทั่ว ๆ ไป คือ ช่วยงานที่บ้านและในฟาร์ม จนกระทั่งเมื่ออายุ 12 ปี แอน ไบเลอร์ ก็ได้ออกมาจากบ้าน จนได้มาเห็นเมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เธอตื่นตาตื่นใจกับโลกที่ปรากฏตรงหน้า และนั่นก็ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นอามิช

และเมื่อถึงวัยที่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นอามิชต่อไปหรือไม่ แอน ไบเลอร์ ก็ตัดสินใจออกจากการเป็นอามิช เพราะเธอมองว่า ชีวิตอามิชเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ทำให้เธอหายใจไม่ออก แต่เธอก็ยังคงมีความทรงจำดี ๆ จากการที่ช่วยคุณแม่ทำขนม ซึ่งในสมัยเด็กนั้น เธอไม่ชอบทำขนมเลย เพราะรู้สึกเหนื่อย แต่กลับกลายเป็นว่า ณ วันนี้ เธอได้กลายเป็นคนทำขนมให้คนทั่วโลกได้ลิ้มรส

 


 


ได้พบปะพูดคุยกับเจ้าของอานตี้ แอนส์ แล้ว ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า จริง ๆ แล้ว ชาวอามิสคนอื่น ๆ เคยคิดอยากออกไปสัมผัสโลกภายนอกบ้างหรือไม่ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเขาอยู่ในกฎเกณฑ์มาโดยตลอด

ชาวอามิชก็คงคิดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน จึงได้มีกฎข้อหนึ่งคือ เด็ก ๆ ที่อายุ 16 ปีแล้ว จะมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกอย่างสุดเหวี่ยงเท่าที่ตัวเองต้องการ อยากไปเที่ยวที่ไหน อยากเรียนอะไร หรืออยากมีแฟน ทุกคนสามารถทำได้ดังใจปรารถนา และเมื่อเดินทางกลับมายังชุมชนอามิชแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกว่า จะยังอยากเป็นชาวอามิชต่อไปหรือไม่ ถ้าตัดสินใจเป็นชาวอามิชต่อไป ก็จะต้องไปรับศีลอนาแบ๊ปติส

มาถึงตรงนี้อยากรู้แล้วใช่ไหมว่า คนส่วนใหญ่เลือกเส้นทางไหน จากสถิติพบว่า ชาวอามิชกว่า 95% เลือกรับศีลที่จะเป็นชาวอามิช และอาศัยอยู่ในชุมชนต่อไป ถ้าถามถึงเหตุผล ก็อาจเป็นเพราะ 16 ปีที่ผ่านมา พวกเขาโตมากับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตแบบนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่เคยชินกับการออกไปเผชิญโลกภายนอกที่คนนอกอาจจะมองว่าเป็นโลกที่อิสระเสรีมากกว่า


 


 


ชาวอามิชถูกสอนให้มีชีวิตที่เรียบง่ายมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ หากมองไปรอบ ๆ จะเห็นว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวแฝงไปด้วยความเรียบง่าย และให้แง่คิดได้หลาย ๆ ประการ อย่างเช่น ตุ๊กตาไร้หน้า ที่คุณย่าคุณยายเย็บให้หลาน ๆ ได้เล่น มันแสดงถึงว่า ชาวอามิชไม่ต้องการมีหน้ามีตาในสังคม ไม่จำเป็นต้องแสดงความโดดเด่นออกมา เปรียบเหมือนตุ๊กตาไร้หน้าที่มีหน้าตาแบบเดียวกันหมด

3 สิ่งที่ชาวอามิชให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือ Faith หมายถึง ความศรัทธา Family หมายถึงครอบครัว และ Friends หมายถึงเพื่อน ซึ่งใครที่ได้เข้ามาเยือนดินแดนเล็ก ๆ แห่งนี้แล้ว คงจะสัมผัสถึง 3 สิ่งนี้ได้ชัดเจน จากความเชื่อ ความรัก ความอบอุ่นที่ชาวอามิชแสดงให้เห็นอย่างจริงใจ รวมทั้งการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกคนในชุมชนที่มีปัญหา ไม่ต่างจาก "คนในครอบครัวเดียวกัน"

"เราพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ รู้ไหม โลกภายนอกอาจมองเข้ามาแล้วพากันสงสารเรา ขณะเดียวกัน เราก็มองว่า คนในโลกข้างนอกนั่นแหละที่น่าสงสาร เรารู้ดีว่าชีวิตในโลกข้างนอกนั้นยากลำบากกว่าเรามากนัก แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าชีวิตของชาวอามิชโรยด้วยกลีบกุหลาบ เรามีคนที่อยู่แบบนี้ไม่ได้ และลาออกไป บางทีก็มีเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรเกิดขึ้น แต่ชีวิตก็เป็นแบบนี้ การเป็นอามิชไม่ได้หมายความว่า เราดีกว่าใคร หรือชีวิตแบบเราถูกต้องเสมอไป ไม่มีชีวิตใครสมบูรณ์แบบ เราเพียงแค่พยายามใช้ชีวิตให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้" คุณปู่ชาวอามิช กล่าว

 


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวอามิชกังวลก็คือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการไม่คุมกำเนิดที่ขัดต่อความเชื่อของเขา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ดินตามมา ดังนั้น ชาวอามิชรุ่นหลัง ๆ จึงเริ่มออกไปทำงานในเมืองมากขึ้น นี่อาจเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ระบบวิถีชีวิตของชาวอามิชค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ซึ่งชาวอามิชหลายคนคงไม่อยากให้มันเกิดขึ้น

การเยือนชุมชนอามิชครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นมุมมองบางอย่างที่ชาวอามิชต้องการสอนให้คนภายนอกได้เข้าใจ อย่างเช่นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนก็คือ บางทีการมีชีวิตที่ดีอาจไม่ได้หมายถึงเราต้องมีทุกอย่างที่เราอยากได้ แต่มันอาจคือการที่ไม่มีบางอย่างที่ไม่จำเป็น เพื่อที่จะได้ใช้เวลากับสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อชีวิตเราจริง ๆ ก็เป็นได้

 

 

 

 

               โศกนาฏกรรม "อามิช" : การปะทะของพลังจากคลื่นต่างลูก

บ้านเขาเมืองเรา : ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวอาชญากรรมในอเมริกาข่าวหนึ่ง ซึ่งชวนสะเทือนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ คนขับรถบรรทุกบุกเข้าไปในโรงเรียนเล็กๆ และยิงเด็กตายไปหลายคน การบุกเข้าไปทำร้ายเด็กในโรงเรียน ดูจะเป็นของธรรมดาในอเมริกาไปแล้ว เพราะมันเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สามในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียว เรื่องล่าสุดนี้มีความสะเทือนใจเป็นพิเศษ เพราะมันเกิดขึ้นในชุมชนของคนอเมริกัน ที่มีชื่อว่า "อามิช" (Amish) โดยทั่วไปชุมชนของชาวอามิชมีแต่ความสงบ บางแห่งสงบมากถึงกับไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจ

ความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวอามิชมีความแปลกและน่าสนใจยิ่ง ผมเคยนำมาเล่าไว้ในหนังสือชื่อ "อเมริกาที่ยังใช้ม้าเทียมไถ" เมื่อหลายปีก่อน สาเหตุที่ตั้งชื่อหนังสือเช่นนั้น เพราะชาวอามิชยังดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ด้วยการทำไร่ และยังใช้ม้าเทียมไถอยู่ในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าในอเมริกาจะมีชุมชนเช่นนั้นเนื่องจากสังคมอเมริกันก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สุด แต่ชาวอามิชไม่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า โทรทัศน์ หรือเครื่องจักรกลซึ่งรวมทั้งรถยนต์ด้วย

ชุมชนของเขาจึงยังเป็นเช่นเดียวกับสังคมเกษตรกรรมก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อราว 250 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะพูดกันให้ทันสมัยก็อาจพูดว่า ชาวอามิชยังดำเนินชีวิตตามยุคคลื่นลูกที่ 1 ทั้งที่ปัจจุบันนี้โลกส่วนใหญ่ก้าวหน้าไปจนมองเห็นคลื่นลูกที่ 4 แล้ว

สำหรับผู้ที่อาจลืมไปขอเรียนว่าคลื่นลูกที่ 1 เกิดจากพลังของการที่บรรพบุรุษของเรารู้จักเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างใหญ่หลวงเป็นครั้งแรก เมื่อราว 10,000 ปีมาแล้ว นั่นคือ จากการเร่ร่อนไปตามฤดูกาลเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์มาเป็นชุมชนที่มีหลักแหล่งถาวร

คลื่นลูกที่ 2 เกิดจากพลังของเทคโนโลยีที่มาจากเครื่องจักรกล ซึ่งยังผลให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงเป็นครั้งที่ 2 เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมาเกิดคลื่นลูกที่ 3 จากพลังของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากมันทำให้การติดต่อสื่อสารทั่วโลกทำได้เพียงในเสี้ยววินาที

ส่วนคลื่นลูกที่ 4 ยังมาไม่ถึง แต่เทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงอีกครั้งมีให้เห็นบ้างแล้ว เช่น ความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และการสร้างผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กมากจากเทคโนโลยี ที่มีชื่อว่า "นาโน" มนุษย์อาจไม่ตาย หรืออยู่ได้หลายร้อยปีเมื่อเทคโนโลยีนี้พัฒนาไปจนถึงจุดสุดยอด

ผมสนใจในเรื่องราวของชาวอามิชเป็นพิเศษ และเดินทางไปดูหมู่บ้านของเขาหลายครั้ง เพราะคิดว่าพวกเขาเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

การศึกษาอย่างละเอียดพอสรุปได้ว่า แม้จะมีส่วนหนึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่แนวคิดของชาวอามิช อยู่นอกกรอบเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากส่วนประกอบบางอย่างของเขา มีความตกขอบในขณะที่เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่บนฐานของความสมดุลอันเป็นหัวใจของทางสายกลาง (รายละเอียดของการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และข้อเสนอในการนำมาใช้มีอยู่ในหนังสือชื่อ "โต้คลื่นลูกที่ 4 : เมื่อ "ความพอเพียง" คือคำตอบ" ซึ่งคงหาได้ในงานสัปดาห์หนังสือ และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป เนื่องจากสำนักพิมพ์แจ้งว่าได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว)

ตัวอย่างส่วนประกอบซึ่งมีความตกขอบของชาวอามิช ได้แก่ แนวคิดทางด้านการศึกษา ชาวอามิชจะให้ลูกหลาน เรียนหนังสือในโรงเรียน ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็กๆ ชั้นเดียว ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต จะเรียนรวมกันหมดจากชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 8 ซึ่งเทียบเท่ากับมัธยม 2 ของเรา ตามรายงานข่าวโรงเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีนักเรียนเพียง 26 คน หลังจากจบมัธยม 2 แล้ว เด็กอาจได้รับการฝึกงานในหมู่บ้านแต่จะไม่มีการเรียนต่อในโรงเรียนอีก ครูผู้สอนก็มีความรู้พื้นฐานเพียงมัธยม 2 บวกกับการศึกษาซึ่งได้มาจากการอ่านเอกสารและการฝึกงานในห้องเรียน

สถานที่เกิดเหตุอยู่ในรัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งมีชุมชนอามิชมากที่สุด เวลาไปไหนมาไหนพวกเขาจะใช้การเดิน จักรยานและรถม้า ฉะนั้นจากข่าวเราอาจเดาได้ทันทีว่าคนขับรถบรรทุกที่บุกเข้าไปฆ่าเด็กในโรงเรียนนั้นไม่ใช่ชาวอามิชแน่นอน ชาวอามิชผลิตอาหารเอง นอกจากอาหารสดตามฤดูกาลแล้วพวกเขาจะทำจำพวกของดอง ของเค็ม และของตากแห้ง ไว้สำหรับใช้บริโภคนอกฤดูกาล พวกเขาไม่มีตู้เย็นเพราะไม่ใช้ไฟฟ้า แต่บางคนอาจนำจำพวกเนื้อสัตว์ ไปฝากไว้ในตู้แช่แข็งของชุมชนอื่นที่อยู่ไม่ห่างไกลและใช้ไฟฟ้า

ชาวอามิชสวมเสื้อผ้าง่ายๆ คล้ายเครื่องแบบไม่กี่อย่าง ซึ่งมักตัดเย็บเองและไม่ใช้แม้กระทั่งซิปรูด ผ้าจะเป็นสีไม่ฉูดฉาด และปราศจากดอก และลวดลาย เวลาไปไหนผู้ชายจะสวมหมวกปีกและผู้หญิงจะมีหมวกคลุมผม ไม่แต่งหน้าทาปาก และไม่สวมเครื่องประดับ รองเท้าจะมีเพียงสีดำและสีน้ำตาลเท่านั้น ส่วนที่อยู่อาศัยพวกเขาปลูกบ้านกระจัดกระจายอยู่ในไร่ และที่ดินของตนเอง

ในบ้านจะไม่มีเครื่องประดับประดา นอกจากเครื่องเรือนที่จำเป็นเท่านั้น เขาใช้ตะเกียงลานสำหรับแสงสว่าง และเตาแบบโบราณสำหรับทำครัว สำหรับการรักษาพยาบาล พวกเขาใช้ยาพื้นบ้านและการบีบนวดเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีที่ป่วยมากจริงๆ เท่านั้น จึงจะไปโรงพยาบาล

พวกเขาไม่รับความช่วยเหลือจากภายนอก ไม่รับแม้กระทั่งเงินประกันสังคมของรัฐ ลูกจะเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่า ชุมชนจะช่วยเหลือกันเองและยังรักษาประเพณี "ลงแขก" ไว้สำหรับกิจการใหญ่ๆ ที่ต้องใช้คนมาก เช่น การปลูกโรงนา ชาวอามิชไม่ยอมเป็นทหาร เพราะศาสนาสอนว่าอย่าแก้ปัญหาด้วยอาวุธ แม้จะเคร่งครัดในศาสนา แต่พวกเขาไม่สร้างอาคารถาวร เช่น โบสถ์เพื่อกิจทางศาสนาซึ่งเขาจัดขึ้นทุกสองสัปดาห์ โดยหมุนเวียนกันใช้โรงนาเป็นสถานที่

ชาวอามิชไม่สามารถหนีปัญหาและความกดดันของสังคมยุคใหม่ได้ทั้งหมด รวมทั้งปัญหาวัยรุ่นด้วย พวกเขาพยายามใช้ชุมชนเป็นฐานในการแก้ปัญหา และเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ไม่ต้องการเดินตามทางชีวิตของพ่อแม่ ย้ายออกไปจากชุมชน เมื่อตนบรรลุนิติภาวะ

แม้จะมีความตกขอบอยู่บ้าง แต่เมื่อมองโดยรวมแล้ววิถีชีวิตของชาวอามิช สร้างความสงบสุขได้ไม่ต่ำกว่าสังคมอเมริกันทั่วไป ฉะนั้นผมจึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวางอยู่บนฐานของทางสายกลางจะสร้างความสงบสุขได้มากกว่าสังคมไทยในปัจจุบัน และให้ภูมิคุ้มกันแก่เราได้เมื่อคลื่นลูกใหม่ถาโถมเข้ามา

 

 

 

      มาดูกัน... คน 8 เจเนอเรชั่น คุณอยู่ในกลุ่มไหนนะ?

 

 

 



 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มขั้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้หญิงยุคใหม่เป็นเวิร์กกิ้งวูแมนมากขึ้น สนใจเรื่องการทำงานมากกว่าคิดจะมีครอบครัว สาวโสดก็เลยครองเมืองกันเพียบ นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างประชากรไทยกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป และดูเหมือนว่า ในอนาคตเราอาจจะเผชิญกับสภาวะที่ขาดแคลนแรงงานก็เป็นได้

          อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้ว โครงสร้างของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจในช่วงนั้นที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และคนในแต่ละยุค แต่ละสมัยก็จะมีพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ ความรู้ความสามารถ ค่านิยม การบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป ทางสหรัฐอเมริกา และโลกตะวันตก จึงได้จัดแบ่งกลุ่มคนออกเป็นรุ่นต่าง ๆ 8 เจเนอเรชั่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกณฑ์การจัดแบ่งรุ่นนี้ก็เป็นที่นิยมใช้กันไปทั่วโลกด้วย 

          ...ลองไปตรวจสอบกันดูซิว่า ครอบครัวของคุณ และตัวคุณเอง อยู่ในรุ่นไหนบ้าง และมีอุปนิสัยคล้ายกับข้อมูลต่อไปนี้หรือไม่ 

1. Lost Generation


          ประชากรยุคแรกที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426-2443 หรือในช่วงทศวรรษที่ 80 ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เสียชีวิตไปหมดแล้ว จึงถูกตั้งชื่อว่า "Lost Generation" เหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนยุคนี้ก็คือ การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
 
2. Greatest Generation

          Greatest Generation หรือที่รู้จักกันว่า G.I. Generation คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2444-2467 คือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาจึงกลายมาเป็นกำลังหลักของการต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสงบ เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก คนรุ่นนี้จึงเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

          ผู้คนในยุคนั้นจะมีความเป็นทางการสูง ผู้ชายจะใส่สูทผูกเนคไทเมื่อออกจากบ้าน คนในสังคมจะมีแบบแผนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีความคิด ความเห็น ความเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมั่นรัฐบาล อำนาจรัฐ มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองร่วมกัน


 


 


3. Silent Generation

          หมายถึงคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2468-2488 ประชากรรุ่นนี้จะมีไม่มากเท่ารุ่นอื่น ๆ เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้น ผู้คนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องทำงานหนักในโรงงาน หามรุ่งหามค่ำ คนรุ่นนี้จึงมีความเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมาก มีความจงรักภักดีต่อนายจ้าง และประเทศชาติสูง เคารพกฎหมาย เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น กระทั่งเวลาผ่านไป เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว คนในรุ่นนี้จึงได้รับโอกาสมากขึ้น มีช่องทางการสร้างกิจการของตัวเอง รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นรากฐานจนถึงปัจจุบันนี้

 


 


4. เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer)

          เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือ Gen-B หมายถึงคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุ ที่เรียกว่า "เบบี้บูมเมอร์" ก็เพราะว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง บ้านเมืองที่ผ่านการสู้รบได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชากรที่เหลืออยู่ในแต่ละประเทศจึงต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็ง แกร่งมั่นคงอีกครั้ง แต่ทว่า...สงครามที่ผ่านพ้นไปก็ได้คร่ากำลังพล และแรงงานไปเป็นจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้จึงขาดแรงงานในการขับเคลื่อน ประเทศ คนในยุคนั้นจึงมีค่านิยมที่จะต้องมีลูกหลาย ๆ คน เพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่า "เบบี้บูมเมอร์" นั่นเอง

          ปัจจุบันนี้ คนยุคเบบี้บูมเมอร์คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 49 ปีขึ้นไป และเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กรมาก สู้งาน พยายามคิดและทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นเจ้าคนนายคน ถูกครอบครัวสั่งสอนมาให้เป็นคนประหยัด อดออม จึงมีการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง คน ในยุคอื่น ๆ อาจจะมองคนยุคเบบี้บูมเมอร์ว่าเป็นพวก "อนุรักษนิยม" เป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี แต่คนกลุ่มนี้ถือว่าน่าจะมีจำนวนมากที่สุดในสังคมปัจจุบันเลยทีเดียว

          เหตุการณ์สำคัญที่คนในรุ่นนี้เคยประสบ หรือเคยได้ยินก็คือ ข่าวความสำเร็จของการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ ข่าวการทำสงครามเวียดนาม เป็นต้น

 


 


5. เจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X)

          หลัง จากยุคเบบี้บูมเมอร์ส่งผลให้เด็กเกิดมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ได้ทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนจึงกลับมานั่งคิดว่า หากไม่ควบคุมอัตราการเกิดไว้ สุดท้ายแล้วคนทั้งโลกก็จะขาดแคลนอาหาร ดังนั้น จึงเกิดเป็นยุค "เจเนอเร ชั่น เอ็กซ์" (Generation X) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "Gen-X" ที่เป็นกระแสตีกลับจากยุคเบบี้บูมเมอร์ มีการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร อย่างเช่นในประเทศจีนก็มีการรณรงค์ให้คนมีลูกได้เพียง 1 คนเท่านั้น

          คนยุคนี้จะเกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2508-2522 อาจเรียกอีกชื่อว่า "ยับปี้" (Yuppie) ที่ย่อมาจาก Young Urban Professionals เพราะ เกิดมาพร้อมในยุคที่โลกมั่งคั่งแล้ว จึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม, คอมพิวเตอร์, สไตล์เพลงแบบฮิปฮอป และอาจทันดูทีวีจอขาวดำด้วย

          ปัจจุบัน คนยุค Gen-X เป็นคนวัยทำงาน มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปแล้ว พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดมากก็คือ ชอบอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work–life balance)  มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างได้เพียงลำพังไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์

          อย่างไรก็ตาม หลายคนใน Gen-X มีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม ไม่ได้เชื่อเรื่องศาสนา และ ไม่ได้ยึดขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป อย่างเช่นมองว่าการอยู่ก่อนแต่ง หรือการหย่าร้างก็เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่ 3 ซึ่งต่างจากกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องผิดจารีตประเพณี เป็นอย่างยิ่ง

6. เจเนอเรชั่น วาย (Generation Y)

          ถัดจากยุค Gen-X ก็คือ ยุคเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือ ยุค Millennials ซึ่งก็คือคนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523–2540 คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่ แต่ก็รับเอาความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทรกอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย

          ยุคนี้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้พ่อแม่ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจะดูแลเอาใจใส่ลูก ๆ เป็นอย่างดี เด็กยุคนี้จึงมักจะถูกตามใจตั้งแต่เด็ก ได้ในสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่ค่อยได้ มีการศึกษาดี มีลักษณะนิสัยชอบการแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่กรอบ ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไข ชอบเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย มีอิสระในความคิด กล้าซัก กล้าถามในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่หวั่นกับคำวิจารณ์ มีความเป็นสากลมาก มองว่าการนิยมชมชอบวัฒนธรรม หรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา

          ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้อยู่ในทั้งช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน และจากการที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการ ติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่าสามารถใช้เครื่องมือเครื่องไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นภาพคนยุคใหม่ที่นั่งเล่น iPad ไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วย แถมบางคนยังกินข้าวไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกต่างหาก

          ในเรื่องการทำงาน คนกลุ่มนี้ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วย งานอย่างไร และชอบทำงานเป็นทีม ต่างจากกลุ่ม Gen-X ที่ชอบวันแมนโชว์มากกว่า เพราะคนในวัย Gen-X จะถูกฝึกมาแบบนั้น ต่างจากวัย Gen-Y ที่เติบโตมาพร้อมกับการประชุม การระดมความคิดเห็น แต่ทว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยอดทนเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่นัก หวังที่จะทำงานได้เงินเดือนสูง ๆ แต่ไม่อยากไต่เต้าจากการทำงานข้างล่างขึ้นไป คาดหวังในการทำงานสูง ต้องการคำชม กลุ่ม Gen-Y มักจะจัดสรรเวลาให้งานและชีวิตส่วนตัวในจุดที่สมดุลกัน พอหลังเลิกงานอาจไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง เช่น ไปเล่นฟิตเนส ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง จะไม่ค่อยหมกมุ่นอยู่กับงานเหมือนกับคนรุ่นก่อน

          นอกจากนี้ กลุ่ม Gen-Y จะเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีใจช่วยเหลือสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นกับพ่อแม่

 


 


7. เจเนอเรชั่น ซี (Generation Z)

          Gen-Z คือ คำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป เทียบ อายุแล้วก็คือวัยของเด็ก ๆ นั่นเอง เด็ก ๆ กลุ่ม Gen-Z นี้ จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้เร็ว เพราะพ่อแม่ใช้สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่น Gen-Z แตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ สมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่ก็คือ เด็กรุ่นนี้จะ ได้เห็นภาพที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อน ๆ ที่อาจจะมีพ่อออกไปทำงานคนเดียว ด้วยเหตุผลนี้ เด็ก Gen-Z หลาย ๆ คนจึงได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง
 

          และนอกจาก 7 เจเนอเรชั่นที่บอกไปแล้ว ปัจจุบันนี้ยังมีคำนิยามเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม แต่ไม่ได้จัดอยู่ร่วมกับ 7 เจเนอเรชั่นข้างต้น คือ กลุ่ม "Gen-C" เป็นคำใหม่ที่ Google และ Nielsen บัญญัติ ใช้สำหรับเรียกกลุ่มคนยุคใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามอายุเหมือน 7 เจเนอเรชั่นข้างบน แต่จัดกลุ่มตามพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก

          ทั้งนี้ คนที่จะถูกจัดเข้ากลุ่ม Gen-C นั้น ก็คือคนกลุ่ม Baby Boommer และ Gen-X ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หันมาสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น ไปจนถึงขั้นเสพติดการเชื่อมต่อ แต่ไม่รวมคนกลุ่ม Gen-Y เป็นพวก Gen-C ด้วย นั่นเพราะคนกลุ่ม Gen-Y ปกติก็จะมีการเชื่อมต่อโลกไร้สายเป็นประจำอยู่แล้ว ต่างกับคนกลุ่ม Baby Boommer และ Gen-X ที่ในอดีตแทบไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เลย แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีมากขึ้น พฤติกรรมของคนเหล่านี้จึงต้องเปลี่ยนไปตามโลก

          สำหรับคน Gen-C นั้น จะมีนิสัยที่เห็นเด่นชัดมาก ๆ คือ จะมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูล สนใจข่าวสารที่ได้รับรู้มาในโลกไซเบอร์ พร้อมจะแชร์ต่อทุกเมื่อ ติดตามดูคลิปในยูทูบมากกว่านั่งดูโทรทัศน์ เหมือนกับสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตัวเองไปแล้ว และคนกลุ่มนี้ก็ยังกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมใหม่ ๆ ด้วย

          อย่างไรก็ตาม คนกลุ่ม Gen-C นี้ แม้จะชอบโพสต์ข้อความมากมาย แต่ก็จะโพสต์ด้วยความระมัดระวังกว่าคน Gen-Y ที่อาจจะโพสต์ตามอารมณ์มากกว่า ต่างกับคน Gen-C ที่จะโพสต์เพื่อแบ่งปันความรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

          ถ้าเราลองเหลียวมองไปรอบ ๆ ตัว เราก็จะได้พบกับคนรุ่นต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ Baby Boomer, Gen-X, Gen-Y และ Gen-Z ซึ่งนักการตลาด นักธุรกิจ ผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากทีเดียว เพราะจะช่วยทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และเข้าใจบุคคลในวัยต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ส่วนตัวเราเอง การได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว และลดช่องว่างในสังคมการทำงานได้ดีเลยล่ะ

 

 

 

****************************

 

 

 

 

                                       ปตท.หมกเม็ดสุดๆ

 

 

                                 

 

 

 

หนังสือลงลายมือชื่อเพื่อให้ตรวจสอบและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าท​ี่รัฐ
ข้าพเจ้า (นาย/นาง/นางสาว) ................................................................................​.......... อายุ .................. ปี
อยู่บ้านเลขที่ ................... หมู่ที่ ................... ถนน ............................................... ตำบล/แขวง ...............................................
อำเภอ/เขต .................................................. จังหวัด ............................................................ รหัสไปรษณีย์ .............................
หมายเลขประจำตัวประชาชนเลขที่         
ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยชอบตามกฎหมาย โดยข้าพเจ้าขอเข้าชื่อเพื่อขอให้ วุฒิสภา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบและถอดถอนบุคคลที่มีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

1. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
2. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน
3. นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
4. นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
5. นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

เนื่องจากข้าพเจ้าเห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่และบทบาทสำคัญ ในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ กำกับ และดูแลผลประโยชน์ของชาติอันเกิดจากทรัพยากรปิโตรเลียมให้มีประสิทธิภาพเป็นธรรม ยั่งยืน ตามเจตนารมณ์สูงสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ปล่อยปละละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน​ เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนจนก่อให้เกิดการผูกขาดตัดตอนในธุรกิจพลังงาน

ทั้งยังพบว่าบุคคลที่ (2)(3)(4)(5) มีการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม เพราะกลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและรักษาผลประโยชน์ส​ูงสุดของชาติแต่ขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนด้​วย เช่น เงินเดือน เบี้ยประชุม โบนัสและประโยชน์ตอบแทนอื่น โดยทั้งหมดนี้มีมูลค่ารวมสูงกว่าที่ได้รับจากตำแหน่งทางราชการ จนส่อว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งบุคคลที่ (1) ในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ปล่อยปละละเลยให้บุคคลที่ (2)(3)(4)(5) ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันขัดต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ส่งผลให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติไว้ใน “มาตรา 84(2) สนับสนุนให้มีการใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการประกอบกิจการ”

นอกจากนี้ยังปรากฏว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นผู้ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างชัดเจนลุแก่อำนาจ มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อหลักการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดีและขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรม​ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ เป็นผู้ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ขาดจิตสำนึก ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ตามที่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ เลือกปฏิบัติโดยมิได้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่ไม่ถูกต้อง ปกปิด บิดเบือนข้อเท็จจริง กีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญในกิจการพลังงานที่สาธารณชนมีสิทธิที่จะรับรู้ เช่น การไม่เปิดเผยข้อมูลสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม การให้ข้อมูลเท็จว่าการใช้ก๊าซแอลพีจีในยานยนต์เป็นการใช้ก๊าซผิดประเภท ขณะที่อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และนานาอารยประเทศอื่นล้วนสนับสนุนให้ใช้ก๊าซชนิดนี้ในยานยนต์ทั้งสิ้น รวมถึงการร่วมกันปกปิด บิดเบือน สาเหตุและผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กรณีการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผิดพลาด ขาดประสิทธิภาพ เลือกปฏิบัติ โดยเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือของปตท.ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น ที่จ่ายอยู่ในอัตราประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนฯที่แตกต่างกันนี้ ไม่เป็นธรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมด้วยกันเองอีกทั้งยังเป็นการผลักภาระการจ่ายเงินเข้​ากองทุนฯ ให้แก่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันอีกด้วยรวมถึงการกำหนดราคาขายก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมท​ี่แตกต่างกัน

 

โดยกระทรวงพลังงานกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วไปซื้อก๊าซในราคา 30.13 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาก๊าซแอลพีจีของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของปตท. ภาครัฐกำหนดให้ ปตท.ไปตกลงราคากับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเอง โดยในปัจจุบัน ปตท.ขายก๊าซแอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซให้กลุ่มปิโตรเคมีในราคาประมาณ 17 บาทต่อกิโลกรัม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งความแตกต่างของราคาก๊าซแอลพีจีระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทที่บุคคลที่ (2)(3)(4)(5) ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอยู่เนื่องจากสามารถซื้อก๊าซได้ในราคาต่ำ เสมือนเป็นการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรก๊าซของกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่มิใช่กลุ่มอุตส​าหกรรมปิโตรเคมี และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่จำเป็นในการหุง​ต้มของประชาชน

ปัจจุบันประเทศไทยขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้รวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ประชาชนกลับได้รับความเดือดร้อนจากราคาก๊าซและน้ำมันแพง ที่มีสาเหตุมาจากการบริหารราชการแผ่นดินของบุคคลที่ (1)(2)(3)(4)(5)ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดการเสียประโยชน์มหาศาลของประเทศชาติ จากการให้สัมปทานการขุดเจาะปิโตรเลียม จากการเพิกเฉยไม่ปรับปรุง พรบ.ปิโตรเลียมให้ทันสมัย เพื่อให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์สูงสุด เนื่องจากรูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนจากสัมปทานปิโตรเลียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความล้าสมัย เพราะกำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ซึ่งในขณะนั้นน้ำมันดิบมีราคาต่ำเพียง 18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ 2.83 บาทต่อลิตร แต่ปัจจุบันน้ำมันดิบมีราคากว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

จึงสมควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประเทศได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ที่นอกจากจะได้รับค่าภาคหลวงและภาษีแล้ว ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากน้ำมันและก๊าซที่ขุดได้อีกด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้หันมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตที่กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมหลังขุดเจ​าะเป็นของรัฐ ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถบริหารจัดการราคาปิโตรเลียมในประเทศได้อย่างเหมาะสม และเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง

ทั้งนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ราชการผิดพลาดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพิกเฉยต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนประกอบกับพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น​ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อนำไปสู่การถอด​ถอนจากการดำรงตำแหน่งทางราชการ และดำเนินการให้มีความรับผิดทางอาญา ข้าพเจ้าจึงขอลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารนี้

(ลงชื่อ) ................................................................................​..
(...............................................................................​)
ผู้เข้าชื่อร้องขอ
วันที่/เดือน/ปี ที่ลงลายมือชื่อ .................................................
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้แนบหลักฐานทางราชการและลงลายมือชื่อรับรองสำเนา อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ
 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่หมดอายุ หรือ
 สำเนาบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้
(โปรดระบุ) ................................................................................​....................
* ภายหลังที่ท่านลงลายมือชื่อและแนบหลักฐานทางราชการพร้อมรับรองสำเนาเรียบร้อยแล้ว ให้ส่งเอกสารทั้งหมดไปที่
"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400" 

 

 

 

*********************************

 

ความคิดเห็น

วันที่: Fri Nov 15 16:54:09 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

 <iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/_jUHKM1YHcc" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>