พ.ศ. 2376 (ค.ศ. 1834) - เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
มันน่าแปลกไหม จารึกสุโขทัยมีไม่รู้ตั้งกี่หลักทำมั้ย? จึงมีคนคอยจองล้างจองผลาญกับศิลาจารึก หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงอยู่เพียงหลักเดียว ทำไม?
ก็เพราะว่า เป็นจารึกที่น่าสงสัย มีพิรุธมากมายซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ระหว่างอักษรน่ะซี
จึงเกิดปุจฉาขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วจารึกหลักนี้ใครแต่งกันแน่?
เมื่อราว ๑๐ ปีก่อน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาประกาศตูมว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้เป็นของปลอม! พ่อขุนรามคำแหงมิได้แต่งขึ้น ผู้ที่แต่งคือ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่างหาก (ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีนักวิชาการออกมาแสดงข้อกังขาจารึกหลักนี้อยู่แล้วเช่น ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี และ Michael Vickery)
เกิดการโต้แย้งทางวิชาการกันยกใหญ่ แล้วก็หายไปในสายลมประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นจะมีการกล่าวขวัญถึงจารึกหลักนี้ก็เพียงประเด็นย่อย ๆ ไม่มีอะไรคืบหน้านักจนกระทั่งทุกวันนี้ และในสำนึกการรับรู้ประวัติศาสตร์ไทยของคนส่วนใหญ่ยังคงว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงทรงแต่งขึ้น และพระองค์ทรงประดิษฐ์ "ลายสือไทย" เป็น "วรรณคดีเล่มแรกของไทย" อยู่เช่นเดิม
มาวันนี้ น้ำในแอ่งจารึกคงจะนิ่งมานาน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์จึงออกมากวนอีกครั้ง เสียงเคาะจารึกนี้ดังขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง
อ.พิริยะยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมและดูจะหนักแน่นขึ้นกว่าเดิมที่ว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยจับ "พิรุธ" ต่าง ๆ ของจารึกมาเผยดังนี้
๑.
ขนาดของศิลาจารึก จารึกพ่อขุนรามฯ นั้นมีขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ ผิดธรรมดา ต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกันคือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนั้นศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และ หลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน
๒.
ไม่มีการเขียนภาษาไทยที่อื่นใดที่มีสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน ยกเว้นจารึกหลักที่ ๑ แต่อย่าลืมว่า พ่อขุนรามฯ ไม่ได้ประดิษฐ์ลายสือไทย แต่ลายสือไทยที่เห็นเป็นตัวอักษรที่ขอยืมมาจากจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย ยกเว้นแต่เขียนบนบรรทัดเดียวกัน และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็มี ๒ พระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน พระองค์หนึ่งคือ พ่อขุนรามคำแหงที่ประดิษฐ์อักษรไทย อีกพระองค์หนึ่งคือ รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรณ แต่ไม่มีใครสนุกด้วยจึงยกเลิกไป มีจารึกให้เห็นแห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้อักษรอริยกะ คือจารึกวัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔
๓.
ในศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับโลกทัศน์สมัยสุโขทัยที่เราทราบจากจารึกหลักอื่น ๆ เช่น
- คำว่า รามคำแหง นั้นไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย จะมีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีจารึกอีกหลายหลักที่กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วงและโปรดสังเกตว่า รามคำแหง จะใกล้กันมากกับชื่อพระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑
- ชื่อช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างทรงของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย
- การตกแต่งช้างของพ่อขุนรามฯ ตกแต่งด้วยระยาง (พุ่ที่ห้อยอยู่หน้าหูช้างเพื่อกันผี) เหมือนกับช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ ก็ตกแต่งด้วยระยาง แต่ช้างทรงในภาพจำหลักที่ปราสาทบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งไม่ห่างจากสมัยพ่อขุนรามฯ นัก ไม่มีการตกแต่งด้วยระยางเลย แต่จะสวมกะบังหน้าแล้วก็มงกุฎ ฉะนั้นหากจารึกหลักที่ ๑ เขียนในสมัยพ่อขุนรามฯ การตกแต่งช้างทรงก็น่าจะกล่าวถึงกะบังหน้าและมงกุฎ ซึ่งมันรับกับโลกทัศน์สมัยนั้น ไม่ใช้โลกทัศน์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ห้อยระยาง
๔.
ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร กรมศิลปกากรขุดค้นที่กำแหงเมืองสุโขทัยแล้ววัดกำแพงได้ความยาวดังนี้ กำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร แล้วก็เสนอว่า กำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้น ตรีบูรสามพันสีร้อยวาที่กล่าวในจารึกก็คือ กำแพงเมืองสุโขทัยชั้นนอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้
๕.
เป็นจารึกที่แปลกกว่าหลักอื่น ๆ ที่ไม่มีการระบุชื่อชัด ๆ ไม่มีชื่อวัดสักวัดเดียวในจารึกหลักนี้ ทั่วไปแล้วจารึกจะกล่าวถึงวัดอะไรจะบอกชื่อเสมอ ส่วนอรัญญิก หมายถึงนอกเมือง ไม่ได้ระบุชื่อวัดในอรัญญิก
"เมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม" คือผู้เขียนพยายามเขียนให้มันกลาง ๆ อะไรก็ได้ มันก็ถูกทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอะรไรที่จะระบุว่ามันไม่มี
๖.
พระพุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระอัฎฐารส หรือพระอจนะ ซึ่งมาจากคำว่า อัจละ แปลว่า ไม่หวั่นไหว ซึ่งยอร์ช เซเดส์ ก็บอกว่าไม่น่าจะหวั่นไหว เพราะก่อด้วยอิฐหรือเคลื่อนย้ายไม่ได้
๗.
รูปแบบและวิธีการเขียนจารึกหลักที่ ๑ มีความเคยชินและมีลักษณะขอยืมมาจากจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น
"จารึกอันหนึ่มีในเมือง...จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำ" ก็มาจากหลักที่ ๓"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว", "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสีนท่านบ่ใคร่เดือด", "หัวพุ่งหัวรบก็บดีบ่ฆ่าบ่ตี" ก็มาจากหลักที่ ๔
แล้วเมื่อลอกแล้วก็เอาศิลาจารึกเหล่านี้ไปซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ หลักที่ ๓ ไปไว้ที่กำแพงเพชร หลักที่ ๕ ไว้ที่อยุธยา หลักที่ ๒ ไปไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุม แต่ผู้แต่งจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังดีกว่ากษัตริย์พม่าที่ลอกแล้วทุบทิ้งเลย
๘.
คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น
- ตระพังโพยสี ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่ง อ.พิริยะมั่นใจว่าเขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตระพังโพยสี คือการขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ และนิยมสร้างนทีสีมา
- หมากม่วง การเขียนมะม่วงให้เป็นหมากม่วงเป็นการเขียนให้ดูเก่า สมัยสุโขทัยจะเขียนว่าไม้ม่วง ซึ่งคำว่าหมากม่วงนี้ปรากฎใน "นางนพมาศ"
- พุทธศาสนา สมัยสุโขทัยไม่มีการใช้คำว่า พุทธศาสนา แต่จะเรียกว่า ศาสนาพระเจ้า หรือ ศาสนาพระเป็นเจ้า
- พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้แบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ สมัยอยุธยาก็ไม่มี แต่มีใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อนเลย นอกจากนางนพมาศในสมัยรัชการที่ ๓
- ทั้งมากาวลาวแลไทเมืองใต้หล้าฟ้า ในจารึกหลักที่ ๑ บอกว่าพ่อขุนรามฯ เป็นลูกใคร มีประวัติอย่างไร และปกครองชนเผ่าไหนบ้าง คือใช้เผ่าเป็นตัวกำหนด อันเป็นวิธีเขียนแบบเดียวกับพระราชสาสน์ของรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงมีถึงประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สำคัญคือ เผ่ากาว คือคนที่อยู่ในภาคบูรพาของอีสานนี้ไม่ใช่โลกทัศน์ของพ่อขุนรามคำแหง
๙.
เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเคารพบูชารัชกาลที่ ๔ มาก ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ อภินิหารการประจักษ์ ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ตอนที ๓๖ เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) เล่าถึงพระราชประวัติตอนทรงผนวชและเสด็จประพาสเมืองเหนือ แล้วพบศิลาจารึกและพระแท่นมนังคศิลา จนเสด็จขึ้นครองราชย์และตอนท้ายกล่าวถึงความในจารึกโดยสังเขป ตอนที่เสด็จประพาสเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ มีความว่า
"เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัย ถึงเวลาเยนอยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่งพังลงมาตะแคงอยู่ ที่เหล่านั้นชาวเมืองเขาเครพย์สำคัญเปนสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี...รับสั่งให้ฉลองลงมาก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมรที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา"
อ.พิริยะชี้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ไม่ได้กล่าวว่าเอาจารึกหลักที่ ๑ มาด้วย เอามาแต่ ๒ อย่างคือ พระแท่ามนังคศิลากับจารึกหลักที่ ๔ ภาษาเขมร แต่ในตอนจบของอภินิหารการประจักษ์ อยู่ ๆ พระองค์ก็รับสั่งว่า หนังสือเสาศิลานี้แก่กว่าหนังสือเสาศิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมร ๖๔ ปี น่าสงสัยต่อมารัชการที่ ๕ ก็รับสั่งว่าจารึกหลักที่ ๑ นี้เอามาคราวเดียวกัน แต่ที่จริงไม่ได้เอามา
๑๐.
อ.พิริยะให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ปีเหตุการณ์ในจารึกหลักที่ ๑ นั้น ถ้าอ่านเป็น พ.ศ. ก็เป็นชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหง แต่ถ้าอ่านเป็น ค.ศ. จะเป็นชีวประวัติของรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากพระองค์โปรดการใช้คริสต์ศักราช เช่น
ค.ศ. ๑๘๓๐ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ขุดลูกนิมิตวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เพื่อปรับเป็นธรรมยุตินิกาย
พ.ศ. ๑๘๓๐ พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ขุดเอาพระธาตุมาบำเรอแล้วฝังที่เดียวกัน
ค.ศ. ๑๘๓๖ รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. ๑๘๓๕ (อาจคลาดเคลื่อนได้ปีสองปี) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ปลูกไม้ตาลได้ ๑๔ ปีจึงฟันพระแท่นมังคศิลาบาตร (รัชกาลที่ ๔ ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรฯ ๑๔ ปีเสด็จขึ้นครองราชย์)
ค.ศ. ๑๘๕๑ รัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๑๘๕๑ พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์เช่นกัน
ตอบจบของอภินิหารการประจักษ์ มีโคลงอยู่บทหนึ่งซึ่ง อ.พิริยะตีความว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแต่งไว้แบบอยากจะพูดเต็มประดาแต่ไม่กล้าพูด จึงเสนอเป็นปริศนาไว้ ดังนี้
ศักราชคิดดั่งนี้ ชอบขยัน
มืดลับชนสามัญ ห่อนแจ้ง
ไทยถือว่าสำคัญ กลเลข
แยบยนต์คนเก่าแกล้ง กล่าวอ้างคนไกล
คนเก่าก็คือรัชกาลที่ ๔ กล่าวอ้างคนไกลไม่ใช่การตรงโดยบังเอิญ ทุกอย่างมีระบบของเขา แต่ละเรื่องรับกันโดยไม่มีความบังเอิญเลย
ก่อนจบ อ.พิริยะได้เฉลยไว้ว่า ทำไมรัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึก หลักที่ ๑
ในสมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชการที่ ๔ ทรงทำจารึกหลักที่ ๑ ก็เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้รับกับอารยธรรมตะวันตก โดยมีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น
การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริ่งที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช้เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อสมัยพ่อขุนรามฯ ไม่เก็บภาษีเลย หรือ รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังฎีกาจากพสกนิกร จึงมีการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนรามฯ กับสมัยรัชกาลที่ ๔
รัชกาลที่ ๔ ต้องการจะแยกการนับถือผีออกจากพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง จึงยกเอาพระขพุงผีขึ้นมา แล้วท่านก็สร้างพระสยามเทวาธิราชให้เป็นผีที่ใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสยาม
หรือต้องการเปลี่ยนขนบประเพณีของการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือ" คือ ลูกเจ้าก็ถือน้ำ ลูกขุนก็ถือน้ำ และพระองค์ก็ทรงถือน้ำด้วย ซึ่งไม่เคยมีมาเลยในประวัติศาสตร์สยาม
ไม่ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ จะเป็นของจริงหรือของปลอมก็ตาม แต่การถกเถียงกันเรื่องนี้ให้บทเรียนที่ดีว่าก่อนจะนำเอาหลักฐานใด ๆ มาใช้ศึกษาอ้างอิงนั้น ควรจะมีการตรวจสอบว่าหลักฐานชิ้นนั้นเขียนขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้เขียน และมีจุดประสงค์อย่างไร
เพราะสังคมทุกวันนี้สลับซับซ้อนเสียจนแทบไม่รู้ว่า
อะไรจริง? อะไรปลอม?