Support
GoldGear Group
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

คู่มือดูแลผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

วันที่: 2012-09-27 19:03:20.0

 

คู่มือดูแลผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

 

     ปัญหาโรคกระดูกและข้อที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บยังพบอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสึกหรอของข้อต่อต่างๆ ของร่างกายภายหลังการใช้งานมานาน ภาวะข้อเสื่อมตามสภาพร่างกายนั้นจึงเกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โรคข้อเสื่อมจึงเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมเนื่องจากเป็นข้อที่รับน้ำหนักและใช้งานมาก การรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่ามีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตนเอง ลดอาการปวด ลดอาการแทรกซ้อน ชะลอการเสื่อมของข้อ ป้องกันความพิการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข้อเข่า
เป็นข้อรับน้ำหนักที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ข้อเข่าที่ปกติและมีสภาพที่ดี ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นข้อที่เคลื่อน ไหวได้ดี ไม่ทำให้ปวด และมีความมั่นคงในขณะใช้งาน

รูปภาพ ภาพวาดแสดงข้อเข่าปกติ

โรคข้อเข่าเสื่อม  หมายถึง การเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนข้อต่อโดยเกี่ยวข้องกับอายุ การเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดในข้อ และการเปลี่ยนแปลงทางเมคานิคของข้อ

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม

  1. อายุที่มากขึ้นมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป
  2. โรคข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ เช่น รูมาตอยด์, เก๊าท์, เอสแอลอี
  3. การใช้งานข้อเข่าไม่เหมาะสม
  4. มีน้ำหนักตัวมากเกินปกติ
  5. อุบัติเหตุ

การเปลี่ยนแปลงของข้อ

  • กระดูกอ่อนผิวข้อ  มีการนุ่มลง เมื่อเป็นมากขึ้นกระดูกอ่อนผิวข้อก็อาจจะหายไปเลยทำให้กระดูกของข้อมาถูกันถ้าการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อไม่เท่ากัน ก็จะทำให้กระดูกทรุดเข้าหากัน และทำให้เกิดมีแนวของข้อผิดไป เกิดขาโก่งหรือขาเกขึ้นได้
  • การกระจายการรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อ ผิดปกติ  ทำให้การรับน้ำหนักผิดปกติ
  • เยื่อหุ้มข้อ    ถูกระคายเคือง เกิดการอักเสบ และสร้างน้ำในข้อมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้ออุ่น
  • กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า มีความแข็งแรงน้อยลง แรงกระแทกจึงเกิดกับผิวข้อมากขึ้น
  • เอ็นยึดข้อ บางส่วนหย่อนยานขึ้น ทำให้ข้อแกว่ง หรือหลวมมากขึ้น
  • กระดูก มีการหนาตัวของกระดูก และบริเวณขอบของกระดูกจะเห็นกระดูกงอก

รูปภาพแสดง   การเปลี่ยนแปลงของข้อเข่าเสื่อม

 

     สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ในระยะแรก ผู้ป่วยมักมีข้อเข่าบวม อาจร่วมกับอาการปวด อาการขัดที่ข้อ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว  คือในขณะเหยียดและงอข้อเข่า ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อไม่เรียบและมีกระดูกงอกเกิดขึ้น ผู้ป่วยบางคนก็จะปรับตัวด้วยการไม่เหยียด หรืองอข้อเข่า  เมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เกิดปัญหาข้อติดขัดตามมา อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ขณะเดียวกันถ้าข้อที่เสื่อมอักเสบนั้นถูกใช้งานมากและต่อเนื่องอาการก็จะเป็นมากขึ้นได้เช่นกัน

     โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นพอควรแล้ว หรือ ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม ซึ่งอาการหลัก ๆ ก็คือ อาการปวด, ขัด และหรือบวมของข้อเข่า หรือในรายที่มีข้อเข่าโก่งอยู่บ้างแล้วก็มักจะมาด้วยเรื่องเข่าผิดรูป หรือทำให้เกิดปัญหาปวดมากขณะเปลี่ยนท่า เช่น จากท่านั่งเป็นท่ายืน
ในผู้ป่วยที่ชีวิตประจำวันต้องมีการนั่งในลักษณะงอข้อเข่ามาก เช่น นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งคุกเข่า หรือจำเป็นต้องขึ้นหรือลงบันไดจำนวนหลาย ๆ ชั้นอยู่เป็นประจำ ก็มักทำให้อาการอักเสบของข้อเข่ารุนแรงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนที่เคยทำในขณะเป็นปกติได้ในเวลาอันสั้น จนอาจเป็นสาเหตุให้ต้องมาพบแพทย์เร็วขึ้น

     ดังนั้นคุณควรมีความรู้เกี่ยวกับอาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อมเพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่ข้อเข่าจะเสื่อมเพิ่มมากขึ้น

 

อาการและอาการแสดงของข้อเข่าเสื่อม

  • อาการข้อเข่าฝืด ตึง โดยเฉพาะในช่วงตื่นนอน หรือพักการใช้งานขอข้อเข่านานๆ
  • อาการปวดเข่า   มีลักษณะปวดตื้อๆ ทั่วๆ ไปบริเวณข้อและมักปวดแบบเรื้อรัง อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน   เช่น นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ และจะทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน
  • มีเสียงในข้อเข่า เมื่อเวลาขยับเคลื่อนไหว  ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวข้อที่ไม่เรียบขรุขระ ซึ่งเป็นผลของการมีเศษกระดูก และอาจเกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนในข้อที่พลิกไปมา
  • เวลาขึ้น-ลงบันได จะมีอาการเจ็บเสียวที่ข้อเข่า
  • การเปลี่ยนรูปร่างขอข้อเข่า ในรายที่เป็นมากจะมีการชำรุดของบริเวณเข่าด้านในมากกว่าด้านนอก จนทำให้กระดูกชิดชนกัน ร่วมกับกระดูกงอกที่เกิดขึ้น การเกิดกระดูกงอกที่เป็นมาก อาจจะคลำได้กดเจ็บ และก่อให้เกิดการโค้งงอขอข้อเข่า 

 

(ภาพซ้าย: แสดงเข่าปกติ, ภาพกลาง: แสดงเข่าโค้งงอด้านนอกภาพขวา: แสดงเข่าคดชนกัน)

  • เข่าบวม เนื่องจากมีของเหลวในข้อมากกว่าปกติโดยเฉพาะในรายที่มีอาการอักเสบ
  • เดินลำบาก เพราะมีอาการเจ็บ ขัด ทำให้เดินลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่ มีข้อจำกัดในการเหยียดงอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และลีบลง จนเห็นข้อเข่าโต บวมขึ้น  

รูปภาพแสดง  ข้อเข่าบวมอักเสบ

 

  • ท่าเดิน  Gait  เป็นผลจากการชำรุดของข้อต่อและกล้ามเนื้อที่เสื่อม ถ้าเป็นเข่าข้างเดียว จะเป็นลักษณะคล้ายขาสั้นข้างยาวข้างคือลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่ หรือเอนตัวเดิน ถ้าเป็นทั้งสองข้าง ประกอบกับข้อเข่าโก่ง จะเดินกะเผลกโยนตัวไปมา เดินระยะทางไกลๆไม่ไหว

การวินิจฉัยภาวะข้อเข่าเสื่อม
อาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย โดยผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมักมีอาการและอาการแสดงดังกล่าว ร่วมกับการถ่ายภาพเอกซเรย์ของข้อเข่า เพื่อทราบความรุนแรงของโรคเพื่อพิจารณาแนวทางในการรักษา

สำหรับการเอ็กซเรย์ อาจจะพบความผิดปกติ เช่น ช่องของข้อเข่าแคบลง มีกระดูกงอกตามขอบของกระดูกเข่าและกระดูกสะบ้า  ในรายที่เป็นมากจะพบการโค้งงอของข้อเข่า

แนวทางการรักษา
การวางแผนการรักษาขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย ความรุนแรงของอาการและการแสดงcomorbidity ของผู้ป่วย ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะอาหาร โรคไต และความรุนแรงในการทำลายโครงสร้างของกระดูกอ่อนข้อต่อ

การรักษาโรคโดยไม่ใช้ยา

1. การให้ความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม คุณควรได้รับทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการรักษา ทราบถึงความสำคัญของการเปลี่ยนลักษณะความเป็นอยู่, การออกกำลังกาย,การทำกิจกรรมการลดน้ำหนัก , การลดแรงกระทำที่ข้อเข่า

2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการงอเข่ามาก   เช่น การนั่งพับเพียบ การนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น ควรนั่งเก้าอี้สูงระดับเข่า
  • การเข้าห้องน้ำ ควรนั่งบนชักโครกหรือนั่งบนเก้าอี้สามขาที่มีรู ควรทำที่จัดยึดบริเวณด้านข้างโถ เพื่อช่วยพยุงตัวเวลาลุกนั่ง ไม่ควรนั่งยองๆ เพราะผิวข้อเข่าจะเสียดสีกันมากขึ้น 

 

  • การนอนบนเตียง เตียงควรมีความสูงระดับเข่า ไม่ควรนอนราบบนพื้น เพราะผิวข้อเข่าจะเสียดสีกันมากขึ้นเวลาจะลุกขึ้นหรือจะนอน
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อยๆหรือหลายๆชั้น ถ้าจำเป็นขึ้น-ลงบันไดให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • การยืน ควรยืนขาตรง กางขาออกเล็กน้อย เพื่อให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่าๆกัน
  • การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควรเดินบนพื้นลาดเอียง พื้นขรุขระ  เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวกดลงไปที่เข่ามากขึ้นและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย  ควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย มีขนาดกระชับพอดี    
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนในท่าเดียวกันนานๆ
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ  เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เบสบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดการฉีกขาดได้
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โดยการควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง   5 หมู่   เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำและลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง

3. กายภาพบำบัดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

     จากการทำวิจัยในประเทศต่างๆเช่นอเมริกา ออสเตรเลีย พบว่าการรักษาทางกายภาพบำบัดโดยเฉพาะการออกกำลังกายในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม   จะช่วยให้ อาการปวดข้อเข่าลดลง   สามารถทำกิจกรรมที่เมื่อก่อนทำไม่ได้หรือทำได้ลำบากได้ดีขึ้น เช่น การขึ้นลงบันได  การลุกนั่ง  และ เพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรมได้นานขึ้น  เช่นการเดิน  เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

หลักการการออกกำลังกายในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม


1. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อข้อเข่า  เป็นการยืดกล้ามเนื้อของขาโดยเน้นที่กล้ามเนื้อข้อเข่า สำหรับลดอาการตึงหรือปวดเข่าเวลาเปลี่ยนท่าทางหรืออิริยาบถ เช่นการลุกนั่ง
2. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นการออกกำลังแบบค่อยเป็นค่อยไป จนถึงระดับปานกลาง  สำหรับลดอาการปวดข้อเข่าเมื่อมีการใช้งานมาก เช่นเดินนาน

3. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น โดยจะเน้นการออกกำลังกายในรูปแบบการเดินสายพาน, ขี่จักรยาน และการฝึกการทรงตัว

  • การออกกำลังกายทั้งหมดนี้ จะต้องทำในระดับที่ไม่มีอาการปวด
  • การออกกำลังกายจะได้ผลเมื่อผู้ป่วยสามารถนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด
  • แพทย์อาจสั่งการรักษาทางกายภาพบำบัดอื่นๆร่วมด้วย เช่น การให้ความเย็น ร่วมกับเครื่องช่วยการเคลื่อนไหว ในกรณีข้อเข่าบวม    การให้ความร้อน เช่น แผ่นร้อน  หรือเครื่อง Ultrasound  การเคลื่อนไหวกระดูกสะบ้า เพื่อให้เข่างอได้มากขึ้น  ทำให้ขึ้นลงบันไดได้สะดวก

4. อุปกรณ์ช่วยในการเดิน

  • การใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า ในกรณีที่ปวดมากควรถือไม้เท้าในมือด้านตรงข้ามกับข้างที่ปวดเข่า
  • สนับเข่าเพื่อกระชับลูกสะบ้า ช่วยปรับความตึงของเอ็นรอบสะบ้า

 

รูปภาพแสดง   อุปกรณ์ช่วยในการเดิน

 

การรักษาโรคโดยใช้ยา

การใช้ยา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวด และกลุ่มยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำลายของกระดูกอ่อนและหรือกระตุ้นการซ่อมแซมกระดูกอ่อนที่เสื่อม
1. ยาแก้ปวด
·         ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยทั่วไปใช้ยา พาราเซตามอล  โดยให้เป็นครั้งๆตามความเหมาะสม
·         ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์  ( NSAID) ซึ่งมีทั้งชนิดฉีด รับประทาน และทาภายนอก  ไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานาน เพราะมีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร  

ในปัจจุบันจะมียากลุ่มต้านการอักเสบกลุ่มใหม่ที่มีผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารน้อยลง  คือยาต้านการอักเสบ กลุ่ม Cox II แต่ยากลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างแพง

ผลข้างเคียงของยา อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ  เป็นแผลในกระเพาะอาหาร  เลือดออกในกระเพาะอาหาร  ไตบวม  ความดันโลหิตสูง  เป็นต้น

ในกรณีที่มีแผลในกระเพาะอาหาร  แพทย์มักจะให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร  เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
·         ยาทาแก้ปวด มีการใช้กันมากแต่ข้อมูลในเรื่องประสิทธิภาพของยาต่ออาการปวดค่อนข้างจำกัด
การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าข้อ   เช่น แพทย์อาจจะฉีดในบางรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีการอักเสบร่วมด้วย  การฉีดยาเข้าข้อเข่าไม่ควรฉีดเกิน 3 ครั้งต่อปี เนื่องจากผลของยาจะทำลายกระดูกอ่อนข้อต่อ เพื่อลดอาการปวด
·         ยากลุ่มคลายความเศร้า  จะช่วยเสริมฤทธิ์แก้ปวดได้ โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาการนอนหลับ
·         ยาคลายกล้ามเนื้อ บางครั้งเกิดจากกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าเกร็งตัว การให้ยาคลายกล้ามเนื้อจะช่วยบรรเทาอาการ
2. ยารับประทานเพื่อเสริมบำรุงกระดูกผิวข้อ  ยากลุ่มนี้มีผลต่อการยับยั้งการทำลายกระดูกอ่อนและมีฤทธิ์กระตุ้นการซ่อมแซมกระดูกอ่อนข้อเข่าที่เริ่มเสื่อม
น้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม   ด้วยการฉีดสารเพิ่มความยืดหยุ่น (Viscosupplementation) เข้าไปในเข่าเสื่อมเพื่อช่วยหล่อลื่นข้อเข่าให้เคลื่อนไหวดีขึ้น  และช่วยชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าออกไป  การฉีดจะฉีดอาทิตย์ละครั้งจำนวน   3-5 ครั้ง ซึ่งอาการจะทุเลาลงได้ประมาณ 6 เดือน
3. ยารับประทานเพื่อเสริมบำรุงกระดูกผิวข้อ  ยากลุ่มนี้มีผลต่อการยับยั้งการทำลายกระดูกอ่อนและมีฤทธิ์กระตุ้นการซ่อมแซมกระดูกอ่อนข้อเข่าที่เริ่มเสื่อม                        
4. น้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม   ด้วยการฉีดสารเพิ่มความยืดหยุ่น ( Viscosupplementation) เข้าไปในเข่าเสื่อมเพื่อช่วยหล่อลื่นข้อเข่าให้เคลื่อนไหวดีขึ้น  และช่วยชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าออกไป  การฉีดจะฉีดอาทิตย์ละครั้งจำนวน   3-5 ครั้ง ซึ่งอาการจะทุเลาลงได้ประมาณ 6 เดือน

การรักษาโดยการผ่าตัด
ก่อนการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมในตัดสินใจในเรื่องการดูแลรักษา,ประสิทธิภาพของการผ่าตัดชนิดต่างๆความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ของการผ่าตัด

ข้อห้ามในการผ่าตัดเข่า

  • ข้อเข่าอักเสบติดเชื้อ หรือกระดูกติดเชื้อ
  • ข้อเข่าเสื่อมแบบมีความผิดปกติของการรับรู้อาการปวด

1. การส่องกล้อง

วิธีการผ่าตัด
เหมาะสำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและขาไม่โก่งมาก โดยการนำเอาผิวข้อส่วนที่สึกหรอและหลุดลอยอยู่ในข้อออก นอกจากนี้ยังตัดกระดูกงอกหรือซ่อมแซมส่วนที่ฉีกขาด
การส่องกล้องเข่าจะได้ผลดีในผู้ป่วยประมาณ 80 % บรรเทาอาการได้ นานประมาณ 2 ปี หรือมากกว่านั้น

รูปภาพ การส่องกล้องข้อเข่า

2. การผ่าตัดจัดแนวกระดูก

วิธีการผ่าตัด
การผ่าตัดจัดแนวกระดูกให้ตรงแนวรับน้ำหนักตัวใช้กรณีที่ขาโก่งมากและข้อยังไม่เสื่อมมาก

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
ผู้ป่วยอายุน้อยและยังมีกิจกรรมมาก โดยต้องมีลักษณะผู้ป่วยก่อนผ่าตัดดังนี้
งอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา
ยังมีกระดูกอ่อนผิวข้อด้านในคงเหลืออยู่
ไม่มีหรือมีน้อยมากที่มีการเสื่อมของกระดูกอ่อนด้านนอกของเข่าและกระดูกอ่อนผิวลูกสะบ้า
เข่ายังมันคงดีหรือมีการเลื่อนไปด้านนอกหรือความไม่มันคงไม่มากนัก

3. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน
การเปลี่ยนผิวข้อเฉพาะส่วน เป็นการเปลี่ยนผิวข้อเพียงซีกด้านในหรือซีกด้านนอกของข้อ ที่เป็นบริเวณรับน้ำหนักเข่าเท่านั้น และไม่มีการเปลี่ยนผิวของกระดูกสะบ้า รวมทั้งเส้นเอ็นไขว้ด้านหน้า ยังดีอยู่ สำหรับวัสดุที่ใช้ในการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับข้อเข่าเทียมชนิดทั้งข้อข้อเข่า

รูปภาพ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน

4. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด
เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของกระดูกที่สึกหรอ  ขรุขระไม่เรียบ  คือ กระดูกจากส่วนต้นขา และกระดูกจากส่วนหน้าแข้ง และผิวของกระดูกสะบ้าออกแล้วทำการแต่งกระดูกให้ได้มุมรับกับผิวข้อเทียมที่จะใส่เข้าไป  โดยส่วนใหญ่แพทย์อาจจะใช้สารยึดกระดูกเพื่อให้เกิดการยึดข้อเทียมกับกระดูก ซึ่งเมื่อสารนี้แข็งตัวดีแล้วจะมีความแข็งแรงมาก และความทนทานนาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักได้ทันทีภายหลังจากการผ่าตัด   
วิธีนี้ได้ผลดีมากกว่า 90  % และมีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี

รูปภาพ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด

  1. ภาวะติดเชื้อ
  2. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
  3. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด
  4. กระดูก patellar  แตก
  5. การบาดเจ็บของหลอดเลือดและเส้นประสาท
  6. ข้อยึดติดแข็ง
  7. ข้อเข่าเทียมหลวมเสื่อมสภาพเร็ว

ภาวะแทรกซ้อนทั่วๆไปที่อาจพบ เช่น ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจวาย, เสียชีวิต

การปฏิบัติตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การให้ข้อมูลและการเตรียมความพร้อมก่อนการรักษาตัวโรงพยาบาล

1. ท่านจะได้รับการให้คำปรึกษาและแนะนำถึงสภาวะของโรค และข้อดี ข้อเสีย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม การปฏิบัติตนก่อนการผ่าตัด  การพักฟื้นขณะอยู่ที่โรงพยาบาล และแนวทางการปฏิบัติตัวก่อนกลับบ้าน และเมื่ออยู่ที่บ้านรวมทั้งมีโอกาสได้ซักถามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดโดยทีมศัลยแพทย์ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
2. ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาทุกชนิดที่ท่านใช้เป็นประจำ   โดยเฉพาะกรณีที่ท่านมีโรคประจำตัว เพื่อปรึกษาแพทย์ร่วมดูแลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด
3. หลังจากนั้นท่านจะได้รับการส่งตรวจวินิจฉัย โดยการเจาะเลือด  เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และส่งปรึกษาอายุรแพทย์
4. หากมีปัญหาฟันผุ ควรได้รับการตรวจรักษาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไปตามกระแสเลือดภายหลังผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อของข้อเข่าเทียมได้
5. ท่านจะได้พบวิสัญญีแพทย์เพื่อรับคำอธิบายถึงชนิดยาสลบที่ใช้และการลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด
6. เตรียมสถานที่ที่บ้าน  ดังนี้
- ควรนอนชั้นล่างของบ้าน  จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ควรอยู่ใกล้มือหยิบใช้ได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
- ห้องน้ำควรมีราวสำหรับยึดจับ
7. ควรบริหารกล้ามเนื้อและข้อให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้ผลของการผ่าตัดดี และสามารถเดินเป็นปกติโดยเร็วภายหลังผ่าตัดทำแต่ละท่าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน และควรทำพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง

การปฏิบัติตนก่อนรับการผ่าตัด

1. งดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัดถอดเครื่องประดับทุกชนิดเก็บในตู้เซฟหรือให้ญาตินำกลับ และสวมชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
2. ถอดฟันปลอม
3. ให้เจ้าหน้าที่ล้างเล็บออกหมด (ถ้าทาเล็บ) การหายใจ ให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทางปาก ทำ 10 ครั้งทุกชั่วโมง หายใจเข้าซี่โครงขยายออก และหายใจออกซี่โครงแฟบ
4. การไอ  ให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้ามาจมูกลึกๆ กลั้นหายใจไว้สักครู่ แล้วไอออกมา เป็นการเอาเสมหะออกจากลำคอ ป้องกันเสมหะตกค้างในปอด

การปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการผ่าตัด
1. หลังผ่าตัด จะมีท่อระบายเลือดต่อลงขวดสุญญากาศและพันขาด้วยผ้าพันแผล เพื่อให้ข้อเข่าเหยียดตรง ข้อเข่านี้จะใส่ไว้ประมาณ 1-3 วันจนกว่าจะไม่มีเลือดออกจากท่อระบาย
2. เมื่อรู้สึกตัวดี ให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทางปาก ทำ 10 ครั้งทุกชั่วโมงขณะตื่น

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่บ้าน
1. ดูแลแผลผ่าตัดให้สะอาดอยู่เสมอ ระวังอย่าให้เปียกน้ำ  แนะนำเรื่องสังเกตอาการของการติดเชื้อของแผลผ่าตัด  เช่น  แผลบวมแดง  แผลแยก มีเลือดออกมา
2. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อ และข้ออย่างสม่ำเสมอ
3. รับประทานยาตามคำสั่งการรักษาของแพทย์
4. มาตรวจตามนัด
5. สังเกตอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์  คือ อาการปวด บวมบริเวณน่อง ขา รวมถึง ข้อเท้าและมีอาการปวด มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมาจากแผล  มีไข้สูง ข้อเข่า บวม แดง ข้อเข่าผิดรูปไปจากปกติ หายใจติดขัด และหายใจลำบาก
6. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก หรือวิตามินซีสูง เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อช่วยบำรุงกระดูก บำรุงเลือด ได้แก่ นม โยเกริต์ เต้าหู้  ปลาเล็กปลาน้อย  ส้ม
7. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
8. ระวังการพลัดตกหกล้ม เนื่องจากข้อเข่ายังไม่แข็งแรง ควรใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดิน
9. หลีกเลี่ยง การขึ้น ลงบันไดที่สูงชัน  การขึ้นลงบันได จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงแล้ว และต้องมีราวบันไดสำหรับจับช่วยพยุง ควรเริ่มจากการก้าว 1 ขั้นก่อนในครั้งแรก ก้าวทีละขั้น ช้าๆ  ต้องจับราวบันไดตลอดเวลา

คำแนะนำในการขึ้นบันได
· ก้าวแรกด้วยขาปกติ
· ตามด้วยขาที่ถูกผ่าตัด                  
· จากนั้นจึงนำไม้เท้าขึ้น
· ทำซ้ำ
คำแนะนำในการลงบันได
· วางไม้เท้าลงบนขั้นบันได
· ค่อยๆวางขาที่ผ่าตัดลง
· จากนั้นลงด้วยขาปกติ
· ทำซ้ำ   

10. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการรับน้ำหนักที่มากที่มากเกินไป
11. หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ การนั่งควรนั่งเก้าอี้ที่มีวางแขน การเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายื่น ควรพยายามถ่ายน้ำหนักให้เท่ากันทั้งข้าง
12. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป รวมถึงการหมุนตัวที่รวดเร็วด้วย
13. หลีกเลี่ยงกีฬา เช่น วิ่ง เทนนิส กอล์ฟ หรือกีฬาที่มีแรงกระแทกที่ข้อเข้า  แต่สามารถเดินเล่น ปั่นจักรยานระยะสั้นๆและเต้นรำได้
14. เวลานอนตะแคง ควรที่จะวางหมอนระหว่างหัวเข่าทั้งสองข้าง เวลานอนหงายไม่ควรวางหมอนไว้ใต้หัวเข่า
15. จัดวางสิ่งของหรือของใช้ในชีวิตประจำวันให้อยู่ใกล้ตัวเพื่อสะดวกต่อการหยิบใช้
16. หากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใดๆหรือไปทำฟันควรแจ้งให้แพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบทุกครั้งว่าได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไว้ เพื่อการพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของข้อเข่าเทียม
17. เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ไม่มีข้อจำกัด  แต่ไม่ควรใช้ท่าที่มีการงอเข่ามาก

ระยะเวลา  2  สัปดาห์หลังการผ่าตัด

  • การเดิน ควรเดินได้เอง (อาจใช้เครื่องช่วยเดินหรือไม่ก็ได้)
  • ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เดินภายในบ้านได้ด้วยตนเอง
  • กำลังกล้ามเนื้อ ควรเหยียดข้อเข่าได้ตรง หรือเกือบตรง
  • การงอข้อเข่า ควรงอได้อย่างน้อยประมาณ 90 องศา

การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นปกติ
     อาการปวดและข้ออุ่น เกิดขึ้นเป็นเวลา เช่น เวลาฝึกงอข้อเข่ามากๆ โดยเฉพาะกลางคืน  วิธีปฏิบัติที่เหมาะสม คือ ลดความถี่ในการฝึกงอข้อ ฝึกงอข้อเข่าแบบช้า ๆเวลานอนสามารถหนุนขาบนหมอนให้ปลายเท้าสูง
ความบวม อาจพบว่าขาข้างที่ผ่าตัดมีขนาดใหญ่ หรือบวมกว่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด โดยเฉพาะเมื่อนั่งห้อยเท้านาน ๆไม่นั่งห้อยเท้านาน กระดกเท้าและข้อเท้าขึ้น/ลงบ่อย ๆ เกร็งกำลังเหยียดข้อเข่าตรงบ่อย ๆ และฝึกเดินโดยยกเท้าขึ้นสูงระหว่างก้าวขา

ระยะเวลา  6 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด

  • การเดิน ควรเดินได้เอง (โดยไม่ใช้เครื่องช่วยเดิน)
  • ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีกิจกรรมการเดินภายนอกบ้าน
  • การขึ้นและลงบันได เข้าและออกจากรถยนต์นั่งได้สบาย
  • กำลังกล้ามเนื้อ เหยียดข้อเข่าได้ตรงหรือเกือบตรงอย่างสบาย
  • การงอข้อเข่า ควรทำได้อย่างน้อยประมาณ 120 องศา

การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นปกติ
อาการปวดและข้ออุ่น ยังคงมีอยู่ และมีอาการปวดจี๊ดรอบๆข้อหรือกล้ามเนื้อขากระตุก เกิดจากปลายประสาทความรู้สึกเริ่มทำงานใหม่หลังผ่าตัด

ระยะเวลา 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนหลังการผ่าตัด

  • การเดิน  ควรเดินได้อย่างปกติ
  • ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน ได้อย่างสบาย สามารถขึ้นลงบันได เข้าออกจากรถยนต์ได้อย่างสบาย
  • กำลังกล้ามเนื้อ เหยียดข้อเข่าได้ตรงหรือเกือบตรงอย่างสบาย
  • การงอข้อเข่า ควรทำได้อย่างน้อยประมาณ 120-140 องศา

การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นปกติ
อาการปวดนานๆครั้ง อาการเข่าอุ่นยังคงมีอยู่ อาการบวมควรหายไป แผลเป็นมีรอยเด่นชัดที่สุด

ระยะเวลา  6 เดือนหลังการผ่าตัด

  • การเดิน เดินได้เองอย่างปกติ
  • ทำกิจวัตรประจำวัน ได้เป็นปกติ
  • กำลังกล้ามเนื้อ เหยียดข้อเข่าได้ตรง

การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นปกติ
ไม่มีอาการปวด บวม อาการเข่าอุ่นหายไปหรือน้อยมาก แผลเป็นมีรอยนูนน้อยลง

ระยะเวลา 12 เดือนหรือ1 ปี หลังการผ่าตัด
เดินและทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ

 

การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นปกติ
ไม่มีอาการปวด บวม อาการเข่าอุ่นและแผลเป็นไม่มีรอยนูน   


ขอขอบคุณ โรงพยาบาลสมิติเวช ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลที่เป็นประโยชน์

บทความคู่มือดูแลผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม 

www.samitivejhospitals.com