งูไม่กลัวมะนาว และเชือกกล้วย
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com
ถึง น้าชาติ คุณปู่เคยเล่าให้ฟังว่าเวลาเข้าป่าให้พกมะนาวและเชือกกล้วยไปด้วย งูจะกลัวและไม่กัด จริงไหมครับ
จาก มะเส็งน้อย
ตอบ มะเส็งน้อย
จากการสอบถามสัตวแพทย์ด้านงู ได้คำตอบว่า "ไม่จริง" เป็นความเชื่อล้วนๆ เพราะความจริงแล้ว งูไม่กลัวมะนาวและเชือกกล้วยแต่อย่างใด แม้แต่ต้นมะนาวก็ยังเคยมีงูขึ้นไปเลื้อยหน้าตาเฉย สันนิษฐานว่าคนโบราณอาจจะพกมะนาวเอาไว้เป็นกระสุนขว้างปางูมากกว่า ส่วนเชือกกล้วย ยิ่งเวลาถูกน้ำก็ยิ่งเหนียว ส่วนเชือกชนิดอื่นจะยิ่งลื่น แต่ไม่เกี่ยวกับงูกลัวเชือกกล้วย
ส่วนเวลาที่ต้องเข้ารกเข้าพงหรือเดินป่า ควรแต่งกายมิดชิด รัดกุม สวมรองเท้าบู๊ตและหาไม้เคาะพื้นเพื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เมื่องูรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนก็จะเลื้อยหนีไปเองหรือปรากฏตัวให้เราเห็น เราก็เลี่ยงทางนั้นไป
จงจำไว้ว่า การส่งเสียงดังไล่งูก็ไม่เป็นผลเลยเพราะงูไม่มีหู มันจึงไม่ได้ยินเสียง! การแสดงของแขกที่เป่าขลุ่ยหรือปี่เรียกงูให้ขึ้นมาจากตะกร้านั้น ความจริงแล้ว งูมันจ้องดูขลุ่ยหรือเข่าของนักเป่าปี่ที่เคลื่อน ไหวส่ายไปมานั่นเอง
สิ่งที่ควรทำเวลาเผชิญหน้ากับงู คือ "มีสติ" ยืนนิ่งๆ ไม่ต้องวิ่งหนี ยกเว้นงูกะปะและงูเขียวหางไหม้ เพราะงู 2 ชนิดนี้ ระหว่างตาและจมูกมีร่องจับความร้อน ดังนั้น เมื่อเจองูให้ยืนนิ่งๆ เข้าไว้ งูจะไปเอง แต่ถ้างูไม่หลบ เราก็ต้องค่อยๆ ก้าวถอยออกมาให้พ้นระยะอันตราย
ในกรณีที่งูสู้คน ส่วนใหญ่มักจะเป็นการที่คนไปบุกรุกอาณา เขตของงูก่อน เช่น งูจงอางก็อาจจะชาร์ตเข้ามาหาคนเพื่อเป็นการป้องกันตัวของงู
งูส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ไล่กัดคน ไม่เหมือนงูบางชนิดในแอฟริกา เช่น แบล็กมัมบา (Black Mamba) หรือกรีนมัมบา (Green Mamba)
นอกจากนี้ ส่วนการใช้สารเคมี เช่น กำมะถันหรือปูนขาวก็ใช้ไม่ได้ผลกับงู
สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้มีงูเลื้อยเข้าไปในบ้าน คือ ไม่ให้มีอาหารของงูอยู่ในบ้านและไม่ให้มีที่รกๆ เป็นที่หลบซ่อนตัว เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วให้เก็บมิดชิด ไม่อย่างนั้น แมลงจะเข้ามาตอมซึ่งแมลงเป็นอาหารของกบ เขียด อึ่งอ่าง และสัตว์อย่างกบ เขียด อึ่งอ่างก็เป็นอาหารจานโปรดของงู ดังนั้น ถ้ามีอาหารงู งูก็จะตามเข้ามา ชาวสวนชาวนาที่นอนตามพื้นบ้านก็มีโอกาสที่จะถูกงูกัดได้เพราะงูตามกบ เขียดเข้าไปในบ้านและคนก็อาจจะพลิกตัวนอนทับงูได้ จึงถูกงูกัด
นอกจากนี้ การปลูกต้น "เสลดพังพอน" ก็ไม่ได้กันงูได้ตามชื่อและความเชื่อเพราะเวลางูประจันหน้ากับพังพอนเข้าจริงๆ หากงูมีโอกาสเป็นฝ่ายทำก่อน พังพอนก็จะตกเป็นอาหารของงู แต่ถ้าพังพอนเป็นฝ่ายได้เปรียบ งูก็จะกลายเป็นอาหารของพังพอนไป
หากเด็กๆ พบเห็นงู นอกจากทำตามคำแนะนำที่บอกไว้แล้ว ให้รีบแจ้งผู้ปกครองหรือครูเพื่อให้ผู้ใหญ่แจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตำรวจ อาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่สำนักงานเขต ให้มาช่วยจับงู
******************************
ศอ.รส. ภาพยันชัด ตร.ยิงยางสติ๊กผู้ชุมนุม ด้วยกระสุน ไม่ทราบขนาด เป็นตำรวจที่ใจดีที่สุดในโลกแล้วล่ะ เฮ้อ......
" ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าราชมังฯ จะมีเสื้อแดงมาชุมนุม แต่ท่านเอง เป็นคนมาปราศัยที่ลานพ่อขุน ก่อนหน้า 1 วัน
ทำไมไม่ห้ามเด็กราม หรือผู้ชุมนุม ว่าห้ามใช้สถานที่ราม แต่ที่นี่เหมือนท่านนั่นแหละเป็นคนชักศึกเข้าราม
ท่านต้องการอะไรคะ ม๊อบอยู่ใกล้กัน มันต้องเกิดการปะทะแน่ๆ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แต่เค้าประกาศ และชุมนุมหลายวันแล้วที่ราชมังฯ
ท่านต้องการอะไรคะ ท่านสามารถป้องกันได้ แต่ท่านไม่ทำ
ท่านต้องการอะไรคะ เพียงเพราะฝ่ายตรงข้ามความคิดของท่านมีอำนาจ ท่านจึงใช้เด็กนักศึกษา หรือใครก็ตาม เป็นเครื่องมือ
ท่าน.............ต้องการอะไรคะ
ท่าน.............จะรับผิดชอบอย่างไร
ยังยืนยันคำเดิมประโยคเดิมที่เคยถามท่านอธิการค่ะ ด้วยความเคารพ........"
********************************
วันจันทร์ ที่ 2 ธันวาคม เป็นวันแรม 15 ค่ำเดือน 12 วันนี้วันพระ...
สัมโมทมาชาดก
:: สาเหตุที่ตรัสชาดก ::
.....กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติฝ่ายพระราชบิดา และกรุงเทวทหะซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติฝ่ายพระราชมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งไหลผ่านและถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ชาวเมืองทั้งสองต่างอาศัยน้ำจากแม่น้ำสายนี้ทำการเกษตรกรรมเลี้ยงชีพด้วยความผาสุกตลอดมา
ต่อมาในฤดูแล้งครั้งหนึ่ง น้ำในแม่น้ำได้งวดลงไปมากผิดปกติ ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นต่างฝ่ายจึงพยายามหาวิธีกักเก็บน้ำเข้านาของตนให้มากที่สุด จนเกิดการทะเลาะวิวาทด่าทอซึ่งกันและกัน แล้วเลยลามปามถากถางไปถึงราชตระกูลของฝ่ายตรงข้าม เรื่องราวจึงขยายตัวลุกลามไปจนถึงขั้นมีการจับอาวุธเข้าต่อสู้ ความขัดแย้งได้ทวีขึ้นถึงขั้นมีการกะเกณฑ์ผู้คน จนในที่สุดกษัตริย์ของทั้งสองพระนครถึงกับยกทัพมาประชิดชายแดน เตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกัน
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าเหตุร้ายกำลังจะเกิดขึ้นกับพระญาติทั้งสองฝ่าย จึงเสด็จมายังชายแดนเพื่อจะทรงระงับศึก พระพุทธองค์ทรงซักถามถึงสาเหตุที่เกิดความขัดแย้งครั้งนี้พระประญาติทั้งสองฝ่ายต่างทูลถึงสาเหตุ เมื่อพระองค์ทรงฟังแล้วจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่าชาดกดังนี้
:: เนื้อหาชาดก ::
.....ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี มีพญานกกระจาบตัวหนึ่งคุมบริวารจำนวนนับพันตัว ท่องเที่ยวหากินอยู่ในป่าใหญ่ได้รับความผาสุกตลอดมา
อยู่มาวันหนึ่ง พรานล่านกบังเอิญมาพบนกกระจาบฝูงนี้เข้า จึงเข้าไปแอบซุ่มอยู่หลังพุ่มไม้ แล้วทำเสียงร้องเลียนแบบนกกระจาบ เมื่อนกกระจาบได้ยินจึงหลงเข้าใจผิดคิดว่า พวกของตนร้องเรียกจึงบินลงมารวมกันข้างพุ่มไม้นั้น นายพรานซึ่งคอยทีอยู่แล้วก็ทอดตาข่ายลงอย่างรวดเร็ว จับนกกระจาบไปได้อย่างสบาย
หลังจากวันนั้น นายพรานก็มาทอดตาข่ายจับนกไปได้ทุกวัน พญานกนกกระจาบพยายามอย่างยิ่งที่จะคิดหาทางช่วยเหลือบริวารของตน จนกระทั่งวันหนึ่งพญานกกระจาบเรียกประชุมบริวารที่เหลือและบอกอุบายว่า
“ ครั้งต่อไป ถ้าพวกเราถูกนายพรานทอดตาข่ายอีกละก็ จงตั้งสติให้ดี ให้แต่ละตัวเอาหัวสอดเข้าในช่องตายข่ายตัวละตา แล้วบินขึ้นพร้อม ๆ กัน ยกเอาตาข่ายนั้นไปพาดทิ้งไว้บนยอดไผ่ที่อยู่ไกล ๆ แล้วปลดตัวเองออกมาก็จะหนีรอดได้ ”
วันต่อ ๆ มา เมื่อพรานนกนำตาข่ายมาทอดอีก นกกระจาบก็พร้อมใจกันทำตามคำแนะนำของพญานกเสมอ พรานนกจึงจับนกกระจาบไม่ได้เลย
ต่อมาไม่นาน มีนกกระจาบซุ่มซ่ามตัวหนึ่งโผลงมาบนพื้นดิน แต่บังเอิญพลาดไปเหยียบเอาหัวนกกระจาบอีกตัวเข้า นกกระจาบตัวนั้นโกรธมากร้องโวยวายขึ้นมา ถึงนกกระจาบซุ่มซ่ามจะอ้อนวอนขอโทษอย่างไร นกตัวที่ถูกเหยียบหัวก็ไม่ยอมให้อภัย จนเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้น กลายเป็นแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน ต่างพูดจากระทบกระเทียบแดกดันกันต่าง ๆ นานา
พญานกกระจาบเห็นดังนั้นจึงเข้าห้ามปราม แต่นกกระจาบเหล่านั้นไม่ยอมฟัง พญานกกระจาบจึงกล่าวว่า ต่อไปความพินาศจะเกิดขึ้นแก่นกกระจาบทั้งหลายเป็นแน่ จึงพานกบริวารที่เชื่อฟังแยกฝูงออกไปหากินที่อื่น
เมื่อพรานมาดักนกกระจาบอีกครั้ง นกกระจาบเหล่านั้นเมื่อไม่มีความพร้อมเพรียงเพราะมัวแต่ทะเลาะกันเอง กำลังแรงจึงไม่พอที่จะนำเอาตาข่ายขึ้นไปได้ พรานนกจึงจับนกกระจาบเหล่านั้นไปอย่างง่ายดาย
:: ประชุมชาดก ::
.....เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่า สัมโมทมานชาดก จบแล้ว ทรงให้โอวาทแก่พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายว่า “ การทะเลาะวิวาทกันในระหว่างญาตินั้นไม่สมควรเลย เพราะการทะเลาะวิวาทเป็นมูลเหตุแห่งความพินาศสถานเดียว ” จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประชุมชาดกว่า
นกกระจาบพาล ได้มาเป็น พระเทวทัต
พญานกกระจาบ ได้มาเป็น พระองค์เอง
:: ข้อคิดจากชาดก ::
๑ . คนพาล มักโกรธง่าย และผูกเวร ดังนั้น เราควรป้องกันการทะเลาะวิวาทเสียแต่ต้นมือด้วยการระมัดระวังตัว มีสติ ไม่ทำสิ่งใดให้กระทบกระเทือนบุคคลอื่น การฝึกสมาธิแผ่เมตตาเป็นประจำทำให้เป็นคนโกรธได้ยาก “ ผู้ที่ฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนหลับเป็นสุข ”
๒ . การคบบัณฑิตย่อมทำให้ห่างไกลจากภัยพาล ดังเช่นนกกระจาบที่เชื่อฟังจ่าฝูง
๓ . เมื่อมีการทะเลาะวิวาทกัน ควรวางตัวเป็นกลาง และหาทางไกล่เกลี่ยยุติเรื่องบาดหมางนั้นเสีย
*****************************
เจ็บเเต่จบ
....ปิดฉากลง ตรงนี้ ดีที่สุด
ยื้อเเรงยุด ฉุดไม่ไหว ใจที่เสีย
ทุ่มเทไป ให้ทุกอย่าง สร้างทางเคลียร์
กายอ่อนเพลีย ไม่เท่าไร เเม้นใจยัง
....ฝันจะมี รังรักน้อย คอยพิงพัก
เฝ้าฟูมฟัก พ่อเเม่ลูก ผูกความหวัง
ละเอียดเเล้ว เเก้วร้าว ร่วงกราวพัง
เหลือเพียงยัง ซากหนึ่งชาย ตายทั้งเป็น......
***********************
เปิดคำสั่งมหาเถรสมาคม ห้ามพระสงฆ์ยุ่งการเมือง คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มหาเถรสมาคมจึงออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า "คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538" ข้อ 2 คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป ข้อ 3 ตั้งแต่วันใช้คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2517 ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุม หรือบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด แก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ข้อ 7 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดหรือนอกวัด ข้อ 8 ให้พระสังฆาธิการตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ชี้แจงแนะนำผู้อยู่ในปกครองของตน ให้ทราบคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ และกวดขันอย่าให้มีการฝ่าฝืนละเมิด ข้อ 9 พระภิกษุสามเณรรูปใด ฝ่าฝืน ละเมิด คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้พระสังฆาธิการปกครองใกล้ชิดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ถ้าความผิดเกิดขึ้นนอกเขตสังกัด ให้เจ้าคณะเจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้น ว่ากล่าวตักเตือน แล้วแจ้งให้พระสังฆาธิการผู้ปกครองใกล้ชิดดำเนินการ ข้อ 10 ให้พระสังฆาธิการผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองทุกชั้น ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้โดยเคร่งครัด สั่ง ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2538
(ลงพระนาม) ............................................. (สมเด็จพระญาณสังวร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม |
พระไม่ควร พูด รวมถึง ยุ่งเรื่องการเมือง++
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงอย่าพูดติรัจฉานกถา ซึ่งมีหลายอย่าง คือ ...
พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอมาตย์ เรื่องกองทัพ
เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน
เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร
เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ
เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล
เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ...
เพราะถ้อยคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น
ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ
ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะพูด พึงพูดว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ...
เพราะถ้อยคำนี้ประกอบด้วยประโยชน์
เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ
ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา"
วินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนควรทราบ
พุทธศาสนิกฝ่ายคฤหัสถ์ควรรู้จักพระวินัยบางข้อของพระภิกษุสงฆ์ไว้ด้วย เพราะว่า พระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่อันสำคัญที่สุด คือรักษาตัวอย่าให้มีโทษทางพระวินัย
จึงจะสมเป็นที่ไว้วางพระหฤทัยของพระบรมศาสดา และจะได้สมเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นนาบุญของชาวโลก ไม่บริโภคจตุปัจจัยของเขาให้เปลืองเปล่า เปรียบเหมือนอย่างพื้นนาอันปราศจากวัชพืช คือหญ้าที่เป็นโทษ ย่อมจะอำนวยให้ข้าวที่ชาวนาหว่านลงดินเจริญงอกงาม มีผลเต็มเมล็ดเต็มรวง แต่หากว่านารกไปด้วยวัชพืช ข้าวที่หว่านลงก็มีผลไม่เต็มที่
ข้อนี้ฉันใด พระภิกษุหรือสามเณร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าศีลไม่ขาด ไม่มีโทษทางพระวินัย ก็เท่ากับนาที่ไม่รก พืชบุญที่หว่านลงก็ย่อมมีผลมากกำไรมาก แต่ถ้าขาดศีลมาก มีโทษทางพระวินัยมาก ก็เท่ากับนาที่รก พืชบุญที่ชาวโลกหว่านลงก็มีผลน้อย มีกำไรน้อย ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรผู้ตระหนักในหน้าที่ของตน จึงพยายามรักษาตัวมิให้เป็นเหมือนนาที่รกด้วยวัชพืช
ก็ในการรักษาตัวนั้น พระภิกษุ-สามเณรบางรูปบางเวลา บางครั้งบางคราว ไม่สามารถจะให้บริสุทธิ์เท่าที่ควรได้ เพราะคฤหัสถ์ หรือบุรุษ-สตรี หรือทายก ทายิกา ผู้ไม่รู้วินัยของพระ และมีธุระเกี่ยวข้องกับพระในวาระต่างๆ เช่น ในคราวทำบุญ แต่ทำไม่ถูกต้องพระวินัย ภิกษุเกรงใจคฤหัสถ์ บางทีคฤหัสถ์เกรงใจภิกษุ จึงทำให้พระต้องอาบัติ คือต้องโทษทางพระวินัย อย่างนี้คฤหัสถ์ได้บุญก็จริง แต่ได้น้อย เพราะขณะเดียวกันนั้น พระได้บาป ต้องโทษไม่บริสุทธิ์เหมือนนาที่รกเสียแล้ว อนึ่ง บางทีบางรูปไม่รู้วินัยของตนเองดีพอ หรือบางรูปรู้วินัยดีแล้ว แต่ไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ในทางที่ผิดๆ และคฤหัสถ์ก็ไม่รู้วินัยของพระ จึงพากันปฏิบัติผิดร่วมกัน อย่างนี้ จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะสมแก่พุทธศาสนิกชนเลย
ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะให้คฤหัสถ์ บุรุษ-สตรี ทั้งหลายช่วยกันรักษาพระภิกษุสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เป็นนาบุญอย่างดี จะได้เพิ่มปริมาณผลแห่งพืชบุญที่บริจาคหว่านลงไป ให้มากยิ่งๆ ขึ้น จึงได้รวบรวมพระวินัยบางข้อ ที่คฤหัสถ์ทั้งบุรุษและสตรีควรทราบมาเรียงเป็นข้อๆ พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ ดังต่อไปนี้ :-
๑. สุภาพสตรี อย่าถูกต้องภิกษุสามเณร.
๒. สุภาพบุรุษ หรือสุภาพสตรี ไม่ควรวานให้พระชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามี-ภรรยากัน แม้ชั่วครั้งชั่วคราว.
๓.สุภาพสตรี ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาไปด้วย ไม่ควรเข้าไปหาภิกษุในที่ลับตาหรือลับหู เพราะอาจจะทำให้พระถูกโจทก์ด้วยอาบัติต่างๆ หรือเป็นทางให้เกิดความเสียหายมาก.
๔. สุภาพบุรุษ หรือสตรี เมื่อมีศรัทธาจะถวายเงินทองแก่พระภิกษุสามเณร ต้องมอบให้แต่ไวยาวัจกร (ผู้ที่รับทำกิจของท่าน) และแจ้งให้ท่านทราบ อย่ามอบให้ในมือหรือในย่าม หรือในบาตรเป็นต้นของท่าน.
๕. บุรุษผู้เป็นไวยาวัจกร เมื่อรับเงินทองของพระรูปใดไว้เท่าไร ต้องจัดสิ่งของที่พระต้องการถวายพระรูปนั้น ในราคาเท่าเงินทองที่ตนรับไว้นั้น ในเวลาที่ท่านขอ ถ้าเงินทองมาก พระขอของน้อย ก็จ่ายเท่าที่ท่านต้องการ เก็บส่วนที่เหลือไว้จ่ายในคราวต่อไป.
๖. บุรุษ-สตรี ผู้เป็นพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ควรขายของแก่พระภิกษุ หรือสามเณร ผู้ที่จับต้องเงิน (ธนบัตร-เหรียญบาทเป็นต้น) มาซื้อด้วยตนเอง.
๗. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาผ้าอาบน้ำฝนถวายพระก่อนเข้าพรรษามากกว่า ๑ เดือน แม้พระขอก็ไม่ต้องถวาย เว้นไว้แต่พระที่เป็นญาติ และพระที่ตนปวารณาไว้.
๘. บุรุษ-สตรี เมื่อเตรียมสิ่งของจะถวายแก่สงฆ์ (ไม่เฉพาะบุคคล) ถ้าพระแนะนำให้ถวายเฉพาะตัวท่านเอง หรือให้ถวายเฉพาะพระรูปใดๆ ก็ตามไม่ต้องถวายตามคำแนะนำนั้น
๙. บุรุษ-สตรี เมื่อเรียนธรรมกับพระ อย่าออกเสียงบทพระธรรมพร้อมกับพระ.
๑๐. บุรุษ เมื่อนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระครบ ๓ คืนแล้ว ต้องเว้นเสีย ๑ คืน ต่อไปจึงนอนได้อีก.
๑๑. สตรี ห้ามนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระแม้ในคืนแรก.
๑๒. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ขุดดินเหนียวล้วนหรือดินร่วนล้วน ไม่ควรขุด แต่ถ้าพระแสดงความประสงค์ว่าต้องการหลุมหรือคูเป็นต้น หรือว่าต้องการให้ดินสูงเท่านั้น เท่านี้เป็นต้น ก็ควรจัดการให้ตามประสงค์.
๑๓. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ตัดต้นไม้หรือดายหญ้าที่เกิดอยู่กับดิน หรือให้รื้อถอนผักหญ้าต่างๆ ที่เกิดอยู่ในน้ำ ไม่ควรตัด-ดาย-รื้อถอน แต่ถ้าพระบอกว่า เราต้องการไม้-หญ้า-ผัก หรือว่า เราต้องการทำความสะอาดในที่ซึ่งเกะกะรุงรังด้วยต้นไม้หรือผักหญ้า ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้.
๑๔. บุรุษ-สตรี นิมนต์ให้พระฉันอาหาร อย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหาร คือคำพูดที่สมควร เช่นพูดว่า
“ ขอนิมนต์ฉันเช้า ” หรือว่า “ ขอนิมนต์ฉันเพล ” และต้องบอกวัน เวลา สถานที่ให้ชัดเจน ทั้งบอกให้พระทราบด้วยว่า ให้ไปกันเอง หรือจะมารับ, อนึ่ง การที่นิมนต์ให้พระฉันนั้น ปรารภเรื่องอะไร ก็ควรบอกให้ทราบด้วย.
๑๕. บุรุษ-สตรี เมื่อเลยเวลาเพลแล้ว คือตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงวันใหม่ อย่านำอาหารไปประเคนพระ หากเป็นของที่เก็บค้างคืนได้ ไม่บูด ไม่เสีย เช่น ข้าวสาร ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสำเร็จบรรจุกระป๋อง มีปลากระป๋องเป็นต้น ก็มอบไว้แก่ไวยาจักรของท่านได้.
๑๖. บุรุษ-สตรี ถ้าพระที่มิใช่ญาติ และตนมิได้ปวารณาไว้ ไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีตคือข้าวสุกที่ระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรถวาย แต่ถ้าขอไปเพื่อผู้เป็นไข้ ควรถวายโดยแท้.
๑๗. บุรุษ-สตรี เมื่อประเคนอาหาร หรือยาเป็นต้น ทุกอย่างที่พระจะกลืนกิน (ฉัน) ต้องประเคนให้ถูกวิธี ดังนี้
ก. ภาชนะหรือห่อของนั้น ไม่ใหญ่หรือหนักเกินไป ยกคนเดียวได้อย่างพอดี.
ข. เข้าอยู่ในหัตถบาสของพระ ห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก เป็นส่วนสุดของสิ่งหรือของบุคคลผู้ประเคน.
ค. น้อมกายถวายด้วยความเคารพ.
ฆ. กิริยาที่ถวาย ถวายด้วยมือ หรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่น ช้อน-ภาชนะก็ได้.
ง. พระรับด้วยมือ หรือด้วยของที่เนื่องด้วยมือ เช่นบาตร-ผ้าก็ได้.
๑๘. สตรี ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ต้องไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดินในห้องกับพระ แม้จะมีสตรีหลายคนก็ไม่ได้.
๑๙. สตรีต้องไม่นั่ง ไม่นอนในที่แจ้งกับพระหนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าสตรีหลายคนนั่งได้ แต่การนอนนั้นไม่ควร แม้การยืน การเดินไปกับพระหนึ่งต่อหนึ่งด้วยอาการซ่อนเร้น ก็ไม่ควร.
๒๐. บุรุษ-สตรี ที่มิใช่ญาติของพระ แม้จะเป็นเขย สะใภ้ หรือภรรยาเก่าของพระ (ปุราณทุติยิกา) หากมิได้เกี่ยวข้องทางสายโลหิต ก็ชื่อว่ามิใช่ญาติ ถ้ามีศรัทธาจะให้พระขอปัจจัย ๔ หรือสิ่งของต่างๆ จากตนได้ ก็ต้องปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระขอได้โดยลักษณะ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ :-
ก. กำหนดปัจจัยหรือสิ่งของ เช่นจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง ยา หนังสือ สมุด ปากกา ฯลฯ.
ข. กำหนดเวลา คือให้ขอได้ตลอด เท่านั้นวันเท่านั้นเดือน เท่านั้นปี ตั้งแต่วันที่เท่าไร ถึงเท่าไร.
ค. กำหนดทั้งปัจจัย-สิ่งของ และเวลา
ฆ. ไม่กำหนดทั้งปัจจัยสิ่งของและเวลา ถ้าจะให้ขอได้เป็นนิตย์ ต้องบอกว่า นิมนต์ขอได้ตลอดกาลเป็นนิตย์.
เมื่อปวารณาแล้ว ถ้าพระขอเกินกำหนด หรือเกิน ๔ เดือน ไม่ควรถวาย เว้นไว้แต่ตนปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์.
หมายเหตุ : - คำว่า ญาติ ได้แก่คนที่เกี่ยวเนื่องกัน ๗ ชั้น คือ ๑. ทวด ๒.ปู่ย่าตายาย ๓.พ่อแม่ ๔.พี่น้อง ๕.ลูก ๖.หลาน ๗.เหลน.
๒๑. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเสพติดให้โทษ เช่น สุราเมรัย ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ถวายพระ.
๒๒. บุรุษ-สตรี ผู้นำสินค้าหนีภาษี ไม่ควรเดินทางร่วมกับพระ หรือไม่ควรให้เกี่ยวข้องกับพระ.
๒๓. สตรี ไม่ควรชวนพระเดินทางไกล แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง แม้นั่งรถ นั่งเรือไปเพียงหนึ่งต่อหนึ่งก็ไม่ควร แม้สตรีหลายคน แต่ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสานั่งไปด้วย ก็ไม่ควร แม้บุรุษไปด้วย หากสตรีขับรถขับเรือเอง ก็ไม่ควร เว้นไว้แต่เรือข้ามฟาก.
๒๔. บุรุษ-สตรี จะถวายอาหารแก่พระผู้อยู่ในป่าอันเป็นที่เปลี่ยว ต้องแจ้งข่าวล่วงหน้าก่อน.
๒๕. บุรุษ-สตรี เมื่อพระรับบิณฑบาต เต็มบาตรแล้ว อย่าอาหารวางบนฝาบาตร หรืออย่าใส่ถุงให้พระหิ้ว.
๒๖. บุรุษ-สตรี เมื่อนิมนต์พระมาฉันในบ้าน ต้องจัดที่ฉันให้พร้อม เช่น น้ำล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้า น้ำฉัน น้ำใช้ กระโถน ผ้า-กระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก ช้อนส้อมและช้อนกลาง อย่าให้บกพร่อง.
๒๗. บุรุษ-สตรี เมื่อจัดที่ให้พระสวด หรือแสดงพระธรรมเทศนา หรือปาฐกถาธรรม ต้องจัดที่ให้พระนั่ง อย่าให้ยืน และต้องไม่ต่ำกว่าที่ของผู้นั่งฟัง
๒๘. บุรุษ-สตรี เมื่อฟังธรรมเทศนา หรือฟังปาฐกถาธรรม ต้องฟังด้วยกิริยาอาการเคารพ แม้ฟังพระสวดในงานมงคล หรืองานศพ เป็นต้น ก็ต้องเคารพเช่นเดียวกัน ไม่ควรนั่งคุยกันเลย จะคุยได้ในเวลาพระหยุดสวดได้อยู่.
๒๙. บุรุษ-สตรี จะถวายร่มแก่พระ ต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่สลับสี เช่นร่มผ้าดำล้วน ร่มกระดาษ ร่มพลาสติค สีน้ำตาล สีดำ สีเหลืองล้วน
๓๐. บุรุษ-สตรี จะถวายรองเท้าแก่พระ ต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่มีส้นสูง ไม่มีปกสัน ไม่มีปกหลังเท้า มีแต่สายรัดหลังเท้ากับสายที่คีบด้วยนิ้ว และมีสีหม่นหมอง เช่นสีน้ำตาลแก่
๓๑. บุรุษ-สตรี เมื่อถวายเตียง ตั่ง แก่พระสงฆ์ต้องเลือกเอาแต่ที่มีเท้าสูงไม่เกิน ๘ นิ้วพระสุคต หรือ ๙ นิ้วฟุต เว้นไว้แต่แม่แคร่ และไม่มีรูปสัตว์ร้ายที่เท้าเตียง เช่นเตียงจมูกสิงห์ หรือบัลลังก์ และเตียงนั้นต้องไม่ใหญ่ถึงนอนได้ ๒ คน ที่นอนก็ไม่ใหญ่อย่างเตียง ฟูกเตียง ฟูกตั่ง และที่นั่งที่นอนไม่ยัดนุ่นหรือสำลี
๓๒. บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายหมอนหนุนศีรษะแก่พระ ต้องให้มีขนาดหนุนได้ศีรษะเดียว ไม่ถึง ๒ ศีรษะ หมอนข้างไม่ควรถวาย
๓๓. สตรี ต้องไม่นั่งบนอาสนะผืนเดียวกัน บนเตียง ม้านั่งเดียวกันกับพระ แม้บนพื้นที่ไม่มีอะไรปูลาดเลย ก็ไม่ควรนั่งเสมอกับพระหรือสูงกว่าพระ ไปในรถ-เรือมีที่จำกัด จะต้องนั่งที่ม้าเดียวกับพระต้องมีบุรุษนั่งคั่นไว้เสียก่อน
๓๔. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาวัตถุอนามาสประเคนพระ วัตถุอนามาส คือสิ่งที่พระไม่ควรแตะต้อง มี ๖ ประเภท ดังนี้ : -
ก. คนหญิง คนกะเทย เครื่องแต่งกายของคนเหล่านั้น แต่ที่เขาสละแล้วไม่นับ ตุ๊กตาหญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย.
ข. ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ที่ขัดแล้ว ศิลาชนิดดี เช่น หยก โมรา.
ค. ศัสตรา อาวุธ ต่างชนิด ที่ใช้ทำร้ายชีวิตร่างกาย.
ฆ. เครื่องดักสัตว์บก-น้ำ.
ง. เครื่องประโคม.
จ. ข้าวเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่ในที่.
๓๕. สตรี ไม่ควรเกลี้ยกล่อม ยั่วเย้าพระด้วยการพูดประเล้าประโลม หรือด้วยการแต่งเนื้อแต่งตัวชะเวิกชะวาก หรือล่อด้วยทรัพย์.
๓๖. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเด็กเล่น เช่น เรือน้อยๆ รถน้อยๆ ถวายพระ.
๓๗. บุรุษ-สตรี ไม่ควรชักชวนพระเล่นการพนัน มีแพ้ มีชนะ เช่น หมากรุก หมากแยก ฯลฯ.
๓๘. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเรียนดิรัจฉานวิชาจากพระและไม่ควรบอกดิรัจฉานวิชาแก่พระ ดิรัจฉานวิชา คือความรู้ในการทำเสน่ห์-ในการใช้ภูตผีปีศาจทำผู้อื่นให้ถึงความวิบัติ ในทางอวดฤทธิ์เดชต่างๆ – ในทางทำนายทายทัก บอกหวยบอกเบอร์ ในทางที่นำให้หลงงมงาย เช่น หุงเงิน หรือทองแดงให้เป็นทอง.
๓๙. บุรุษ-สตรี ไม่ควรใช้พระในกิจนอกพระพุทธศาสนา แต่จะขอให้ช่วยกิจพระพุทธศาสนา เช่น ให้ช่วยนิมนต์พระไปในการบำเพ็ญบุญได้อยู่.
๔๐. บุรุษ-สตรี ไม่ควรนำสิ่งของอันมีค่าฝากไว้กับพระ เพราะอาจเกิดอันตรายแก่พระได้ เช่น อันตรายในการเจริญสมณธรรม ถูกปล้น ถูกเป็นผู้สำนองในเมื่อของนั้นหาย.
๔๑. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่ไม่นิยมเป็นอาหาร ถวายพระ เนื้อที่ไม่นิยมเป็นอาหาร คือเนื้อมนุษย์ ช้าง-ม้า-สุนัข-สีห์-เสือโคร่ง-เสือเหลือง-หมี-เสือดาว.
๔๒. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อที่นิยมเป็นอาหาร แต่ยังดิบ ไม่สุกด้วยไฟ เช่นปูเค็ม กุ้งส้ม หอยเค็ม ปลาเค็ม แหนม กะปิ ลาบเนื้อดิบ ไข่ลวกไม่สุก ประเคนพระ ควรมอบไว้กับกัปปิยการก คือผู้มีหน้าที่ทำให้เป็นของควรแก่พระ
๔๓. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาอุทิศมังสะถวายพระ อุทิศมังสะ คือเนื้อ หรือไข่สัตว์ที่เขาฆ่า เจาะจงภิกษุสามเณร.
๔๔. บุรุษ-สตรี อย่าเอาพืชคาม คือผลไม้มีเมล็ดสุกบางอย่าง เช่นพริกสุก มะเขือสุก อ้อยที่ยังไม่ได้ปอก ผักบุ้ง ขมิ้น กระชาย กระเทียม หอม โหระพา กะเพรา ฯลฯ ที่พ้นจากการที่เกิดที่อยู่แล้ว แต่ยังปลูกให้งอกได้อีกถวายพระ ควรทำให้เป็นของที่ไม่อาจปลูกได้แล้ว จึงถวายพระ.
๔๕. บุรุษ-สตรี ไม่ควรถือเอามรดกของพระผู้มรณภาพไปแล้ว ไม่ว่าพระรูปนั้นจะเป็นพ่อ ลูก ญาติมิตร หรือก็ข้องกันโดยสถานะไรๆ ก็ตาม แม้พระได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ถือเอาก็ไม่ได้ เพราะทางวินัยของสงฆ์มีอยู่ว่า
มรดกของพระผู้มรณะตกเป็นของสงฆ์ทั้งหมด แม้พระจะพูดไว้ด้วยคำเป็นอนาคตว่า “ ถ้าฉันตายแล้ว เธอจงเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป ” ดังนี้ ก็ถือเอาไม่ได้ แต่สิ่งใดที่พระมอบให้ด้วยคำเป็นปัจจุบัน “ ฉันให้สิ่งนั้น สิ่งนี้แก่เธอ ” ก็ถือเอาได้เฉพาะสิ่งที่ระบุถึง หากระบุทั้งหมดก็ถือเอาได้ทั้งหมด.
๔๖. บุรุษ-สตรี เมื่อจะถือเอาสิ่งของของพระด้วยวิสาสะ ต้องให้ครบองค์ ๓ คือ : -
ก. เคยเห็นกัน เคยคบกัน เคยพูดกันไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง .
ข. รู้ว่าถือเอาแล้ว เจ้าของจักพอใจ .
ค. เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ .
๔๗. บุรุษ-สตรี เมื่อพยาบาลพระผู้เจ็บหนัก ฉันอาหารไม่ได้ ครั้นถึงเวลาวิกาลหิวจัด หากมิได้อาหารอาจเป็นอันตราย จะต้มข้าวหรือเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหาร (เว้นอุทิศมังสะ) ให้เหลว กรองให้หมดกาก เอาแต่น้ำข้าว น้ำเนื้อที่ใสถวายให้พระดื่มในเวลาวิกาลก็ได้.
การที่จะอ้างว่า แพทย์สั่งให้พระป่วยฉันอาหารในวิกาลได้ แล้วนำอาหารชนิดต่างๆ ไปถวายในวิกาลนั้น ไม่ควรเลย หากพระอยากฉันอาหารในวิกาลโดยไม่เอื้อเฟื้อต่อวินัยแล้ว ควรให้สึกเสียก่อนจึงจัดถวายให้รับประทาน.
๔๘. สตรีที่เป็นโสเภณี เป็นหม้าย เป็นสาวเทื้อ เป็นชี และกะเทย ไม่ควรไปมาหาสู่กับพระโดยไม่เป็นกิจจะลักษณะหรือผิดเวลา.
๔๙. บุรุษ-สตรี ไม่ควรนิมนต์พระเข้านั่งในร้านสุรา จะเป็นที่ขาย หรือที่กลั่นสุรา หรือที่ดองเมรัยก็ตาม.
บุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อหวังความเจริญแก่ตน แก่วงศ์สกุลของตน และแก่พระพุทธศาสนาควรศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับวินัยของพระภิกษุสงฆ์บางข้อตามที่รวบรวมไว้นี้ และปฏิบัติให้ถูกต้องก็ย่อมจะเหมาะสมแก่ความเป็นพุทธศาสนิกชน และย่อมช่วยประดับพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองแล.
*******************************
วันที่: Fri Nov 15 18:24:14 ICT 2024
|
|
|