ประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจช่วงนี้ก็คือ ปัญหาเงินไหลเข้าและแนวโน้มค่าเงินบาท ซึ่งยิ่งเงินบาทเข้าใกล้แนว 30 บาทเท่าไร คนก็ยิ่งสนใจอยากรู้ว่า “แนวโน้มเงินบาทต่อไปจะเป็นอย่างไร” และ “เราจะปกป้องความเสี่ยงได้อย่างไร”
ในประเด็นนี้ ถ้าจะตอบสั้น ๆ ก็ต้องบอกว่า “เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะยาว” ระยะสั้นอาจผันผวนไปมา ซึ่งในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความผันผวนระหว่างเงินสองสกุลหลักของโลก คือ เงินยูโร และเงินดอลลาร์ ที่ค่าเงินยูโรที่เด้งขึ้น แข็งค่าอย่างรวดเร็วจาก 1.30 ดอลลาร์ต่อยูโร ไปที่ 1.34 ดอลลาร์ต่อยูโร แล้วกระทบมาที่ค่าเงินดอลลาร์ และค่าเงินเอเชีย รวมถึงไทย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินของเราปรับแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน จาก 30.40 ลงมาอยู่ที่ 30 บาท ในเวลาไม่กี่วัน
การแข็งค่าครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงช่วงสั้น ซึ่งค่าเงินที่แข็งขึ้นรอบนี้ อาจจะปรับเปลี่ยนไปมาได้ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นที่เราต้องเตรียมการรองรับไว้ให้ดีก็คือ แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะยาว ที่จะแข็งขึ้นจากระดับปัจจุบัน ไปอยู่ที่ต่ำกว่า 30 บาท และมีแนวโน้มแข็งต่อไปในช่วงข้างหน้า
ทำไมจึงมั่นใจเช่นนั้น
ที่มั่นใจเช่นนี้ก็เพราะปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน
ปัจจัยแรก – เศรษฐกิจของเอเชียและไทยกำลังขยายตัวดี กำลังมีการลงทุนรอบใหม่ ขณะที่โลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจหลัก ๆเช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังมีปัญหาในการขยายตัว ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศที่ขยายตัวดี มีความต้องการที่จะสั่งซื้อสินค้าบริโภค และลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ก็มักจะพบว่าค่าเงินของตนจะแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ปัจจัยที่สอง – ขณะนี้โลกกำลังมีสภาพคล่องล้นเอ่อ กำลังหาที่ไปอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลตอบแทนที่สูง โอกาสที่ดีในการลงทุนภายในเอเชียและไทย จะเป็นแม่เหล็ก ดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ หลั่งไหลเข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง การลงทุนในพันธบัตร การลงทุนในหุ้น การลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆเป็นต้น ซึ่งช่วงที่เงินเหล่านี้ไหลเข้ามา ก็จะมีแรงกดดันต่อค่าเงินให้แข็งค่าขึ้นเพิ่มเติม และยิ่งสหรัฐออกมาประกาศพิมพ์เงินเพิ่มผ่าน QE3 และ QE4 ญี่ปุ่นอัดฉีดเพิ่มเติม อังกฤษ ยุโรปยังคงปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ สภาพคล่องใหม่เหล่านี้ก็จะพากันไหลเข้ามาท่วมเอเชีย และทำให้ค่าเงินของเราแข็งขึ้นไปด้วย
ปัจจัยที่สาม – ทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของค่าเงิน จากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้ว หลายคนยังกล้า ๆ กลัว ๆ เกี่ยวกับยุโรป กังวลว่าจะมีแบงก์ล้ม ประเทศล้ม มีคนออกจากยูโร และสหรัฐเอง หลายคนก็มีความไม่แน่ใจเรื่องการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม ว่า Fed จะทำเพิ่มหรือไม่ อีกมากน้อยเท่าไร ความไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้ค่าเงินสกุลหลักของโลกเมื่อปี 55 ผันผวนไปมา ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ค่าเงินบาทเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีทิศทางชัดเจนเช่นกัน ปรับตัวไปมาในช่วงไม่กว้างนัก 30.5-31.9 บาท
เวลาที่ค่าเงินมีทิศทางไม่ชัดเจนเช่นในปี 55 นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรของเรากว่า 8.5 แสนล้านบาท ก็มักจะลงทุนอย่างระวัง หลายคนก็เลือกที่จะปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน มุ่งหน้ากินกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเป็นสำคัญ
แต่ปีนี้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปพอสมควร ค่าเงินหลักของโลกที่ผันผวนน้อยลง จะทำให้ค่าเงินบาทมีทิศทางชัดเจนว่า “จะแข็งค่าขึ้น” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ นักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทย ก็จะเปลี่ยนวิธีการลงทุน โดยรอบนี้หวังกินกำไรส่วนต่างดอกเบี้ย และขณะเดียวกันก็หวังเก็งกำไรค่าเงินไปพร้อมกัน กระทั่งเงินเก่า 8.5 แสนล้านบาทที่เข้ามาเมื่อปีที่แล้ว บางส่วนก็อาจจะลงทุนต่อ โดยไม่ปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินอีกต่อไป
หากเป็นเช่นนี้ ค่าเงินบาทก็จะมีแรงกดดันให้แข็งค่าขึ้น และยิ่งค่าเงินในเอเชียอื่น ๆ กำลังแข็งค่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินวอนของเกาหลี เงินดอลลาร์สิงคโปร์ เงินดอลลาร์ไต้หวัน เงินริงกิตมาเลเซีย และเงินหยวนจีน เงินบาทก็คงยากที่จะต้านทานแรงกดดันไว้ได้ ก็จะต้องแข็งขึ้นในที่สุด
ก็ขอให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ตั้งราคาสินค้าล่วงหน้าโดยคิดเผื่อว่าถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้น เราจะยังมีกำไรอยู่ได้ และทำการปกป้องความเสี่ยงเรื่องค่าเงินตามความเหมาะสม ปีที่แล้ว ผมคิดว่าเราโชคดีเรื่องค่าเงิน ที่ไม่ได้เป็นประเด็นมากมาย แต่ปีนี้ค่าเงินบาทจะเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะได้ที่ “Blog ดร.กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ.