นักเทคโนโลยีชีวภาพค้นพบว่า ข้าวแต่ละชนิดให้คุณค่าทางโภชนาการต่างกัน สามารถสกัดออกมาเป็นอาหารเสริมรักษาอาการเจ็บป่วย
ศ.เกียรติคุณ ไมตรี สุทธจิตต์ หัวหน้าสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา วัย 70 ปี หนึ่งในนักวิจัยที่สนใจศึกษาคุณสมบัติพิเศษของข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ
"อาหารเสริมที่มีขายกันส่วนใหญ่ สกัดมาจากผลไม้จากต่างประเทศที่มีประโยชน์สูง อย่างพวกลูกบลูเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นองค์ประกอบ ทำให้อาหารเสริมที่ผลิตจากผลไม้ดังกล่าว ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้รักสุขภาพทั่วไป ความจริงพืชพื้นบ้านของไทยหลายชนิด มีศักยภาพนำมาทำเป็นอาหารเสริมป้องกันโรคบางโรคได้เหมือนกัน เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ"
ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา นักชีวเคมีรุ่นใหญ่ได้ลงมือค้นหาสารต้านอนุมูลอิสระที่แฝงตัวอยู่ในพืชผักตามธรรมชาติหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชชื่อแปลกอย่างมะเม่า มะเกี๋ยง ที่ฟังดูหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูนัก เขาได้ทุ่มเทเวลาศึกษาอย่างจริงจัง กระทั่งมีข้อมูลแน่นพอยืนยันได้ว่า พืชเหล่านี้มีสาร "แอนโทไซยานิน" มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายเป็นตัวการทำให้เซลล์เสื่อมเร็วกว่าปกติ แต่ธรรมชาติได้สร้างคู่ปรับของอนุมูลอิสระในรูปของผักผลไม้สีเข้ม
การค้นหาของ ศ.เกียรติคุณ ไมตรี ไม่ได้หยุดอยู่ที่พืชพื้นบ้านเท่านั้น เขายังพบว่าข้าวกล้อง ข้าวแดง หรือข้าวมันปูของไทยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระไม่แพ้พืชชนิดอื่น และเริ่มศึกษาคุณสมบัติของข้าวกล้องอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล งานวิจัยดังกล่าวจึงออกแบบการทดลองครบทุกกระบวนการตั้งแต่ระดับสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการวิจัย ไปจนถึงการศึกษาวิจัยในคน ซึ่งเป็นเป้าหมายในอนาคต
คณะกรรมการพิจารณาทุนวิจัยจากบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลากยี่ห้อ ให้ความสนใจงานวิจัยและได้มอบทุนเซเรบอสอวอร์ด 2009 จำนวนเงิน 2 แสนบาท ให้แก่ทีมวิจัย เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของข้าวกล้องมันปูและข้าวนิล เพื่อการป้องกันโรคเบาหวานและโรคอัลไซเมอร์
ทุนวิจัยเซเรบอสนี้จะแบ่งสำหรับการศึกษา 2 ช่วง คือ 1. การทดสอบในอาสาสมัครผู้ป่วยเบาหวาน 10 คน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของข้าวดังกล่าว คาดว่าปี 2553 จะทราบผลที่ชัดเจน
และ 2. โรคอัลไซเมอร์จะเริ่มทดลองในเซลล์สมองของหนู เพื่อดูปริมาณไขมันในสมองภายหลังรับสารจากข้าวทั้ง 2 ชนิด หากปริมาณไขมันในสมองมากผิดปกติ จะไปทำลายเซลล์สมอง และส่งผลต่อความจำ ในทางตรงกันข้าม หากปริมาณไขมันลดลงย่อมส่งผลดีต่อเซลล์ความจำเช่นกัน
"ข้าวกล้องมีวิตามินและแร่ธาตุมากกว่าข้าวขาว 2-3 เท่าตัว และยังมีสรรพคุณกระตุ้นให้อินซูลินหลั่งช้าๆ ทำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลต่ำ จึงเป็นไปได้ที่จะสกัดเอาประโยชน์ของข้าวใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน" นักวิจัยกล่าว
นอกจากนี้ สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวกล้อง ยังช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายและเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท จึงมีความเป็นไปได้สำหรับรักษาอาการความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
ทีมวิจัยจับตาคุณสมบัติของข้าวแดงมันปูและข้าวนิลเป็นพิเศษ ข้าวทั้งสองชนิดมีสารแอนโทไซยานินสูงกว่าข้าวขาวทั่วไปถึง 20-30 เท่า ทั้งยังมีกลไกยับยั้งการเกิดไกลเคชั่นในโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลจะน้อยกว่าข้าวปกติ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน
ปัจจุบัน อยู่ระหว่างพัฒนาวิธีการตรวจวัด พร้อมศึกษาถึงผลต่อความเป็นพิษในเซลล์มะเร็ง ความเป็นพิษในการทำงานของตับ และผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน
"สิ่งที่จะได้รับ คือ สามารถนำประโยชน์จากข้าวแดงมันปูและข้าวนิล ไปใช้ร่วมในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากข้าวมันปูสามารถรับประทานได้เป็นประจำ จึงเป็นผลดีต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน"
เขาเชื่อว่า อาหารเสริมสกัดจากข้าวกล้องจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้นอกเหนือจากข้าวกล้องทั่วไป เนื่องจากข้อจำกัดของข้าวกล้อง คือ หุงยาก ปลูกยาก ทำให้ข้าวมีราคาแพง และไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
นอกจากงานวิจัยฤทธิ์ของข้าวกล้องมันปูและข้าวนิล เพื่อการป้องกันโรคเบาหวานและโรคอัลไซเมอร์แล้ว ยังมีงานวิจัยอีก 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด จำนวนเงิน 1 แสนบาทต่อโครงการ ได้แก่
การศึกษาสารออกฤทธิ์ป้องกันโรคอัลไซเมอร์จากจันทน์ชะมด โดย ดร.พัฒทรา สวัสดี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่า โรคอัลไซเมอร์ อยู่ในกลุ่มโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โดยสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ปัญหาที่พบคือเป็นแล้วไม่มีวันหาย เพราะไม่มียารักษา งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งโคลีนเอสเทอเรสกับสมุนไพรไทย 60 ชนิด แล้วพบว่า สารสกัดจากเปลือกจันทน์ชะมดมีฤทธิ์ที่น่าสนใจ จึงเดินหน้าศึกษาต่อด้วยเทคนิคทางเคมีและการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ควบคู่กันไป
ดร.พัฒทรา เริ่มต้นค้นหาสารยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อม จากเปลือกจันทน์ชะมด จันทน์หอม หรือดอกไม้จันทน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และหวังว่าจะสามารถค้นหาสารสำคัญที่ใช้เป็นสารต้นแบบสำหรับพัฒนายาป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ในอนาคต โดยงานวิจัยชิ้นนี้ตั้งเป้าศึกษาในหลอดทดลอง ถึงกลไกการจับของสารออกฤทธิ์กับเอนไซม์เป้าหมาย โดยใช้วิธีการคำนวณทางคอมพิวเตอร์
ผลงานวิจัยเรื่อง "การออกแบบและการสังเคราะห์สารกลุ่ม g-secretase modulators เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์" โดย ดร.กิตติศักดิ์ ศรีภา ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ปัจจุบันพบว่าอัตราการเสื่อมสภาพทางด้านความจำ ในช่วงอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีอัตราการเสียชีวิตระดับเดียวกับโรคหลอดเลือดในสมองแตกอีกด้วย ดังนั้นการคิดค้นยาที่ยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์โดยตรงจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความสนใจในการออกแบบและสังเคราะห์สารตัวใหม่ที่คาดว่าจะมีฤทธิ์พัฒนาเป็นยาได้ในอนาคต" ดร.กิตติศักดิ์อธิบาย
ขณะที่โครงการสุดท้ายที่ได้รับทุนนี้ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ แต่ก็เป็นการศึกษาผลของโสม Ginsenosides Re ต่อกระแสโพแทสเซียมที่กระตุ้นโดยแคลเซียมไอออนในเซลล์เอนโดทีเสียมของหลอดเลือดหัวใจ โดย ดร.วัฒนา วัฒนาภา ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มองเห็นว่า สารสกัดจากโสมมีผลต่อการสลายตัวของเส้นเลือดแดงในมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อการป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต โดยเซลเอนโดทีเลียมของหลอดเลือดหัวใจ มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการไหลเวียนของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทีมวิจัยจะเดินหน้าศึกษาต่อไป
วันที่: Fri Nov 15 08:10:27 ICT 2024
|
|
|