ภาพวาดหญิงไทยสมัยอยุธยา โดย คุณหญิงวินิตา ดีถียนต์
ภาพจิตรกรรมบนฝาไม้วัดบางแค
ภาพเขียนสีน้ำมันกองเรือบริ
ภาพกรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพา
ชุมชน เครือข่ายของฮอลันดา
สาวล็อบบี้ยิสต์ กิ๊กมหาภัยสมัยกรุงศรีฯ!!
www.arjanpong.com
#ออสุต #ล็อบบี้ยิสต์ #อยุธยา
“ออสุต” หรือ นางออสุต พะโค เธอเป็นลูกสาวมอญที่เกิดและโตระหว่างปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อสมเด็จพระนารายณ์
แม้ชื่อจะไม่คุ้นหู หากแต่ชื่อบุคคลที่เธอมีปฏิสัมพันธ์ล้วนเป็นผู้มากบารมีที่มีอิทธิพลกับบ้านเมือง
เธอสัมพันธ์กับใคร ใครที่เธอสัมพันธ์ด้วยมีความสําคัญอย่างไรกับราชสํานักกรุงศรีอยุธยา
เธอมีสามีลับ 3 คน ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ และมีอิทธิพลทางการค้ากับสยามในขณะนั้น
สามีลำดับที่ 1 คือ นายยาน ฟาน เมียร์ ไวค์ พ่อค้าชาวดัตช์ที่มาค้าขายในสยาม สามีลําดับที่
2 คือ นายฟาน ฟลีต (เยเรเมียส ฟาน ฟลีต) ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีค้าขายของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือก็คือวันวลิต ผู้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของประเทศสยาม ไว้เป็นเล่มหนังสือชื่อ “จดหมายเหตุวันวลิต”
สามีลําดับที่ 3 คือ นายฟาน เมาเดน หัวหน้าสถานีค้าขายของบริษัทอินเดีย ตะวันออกของฮอลันดา
นอกจากนี้เธอยังมีสายสัมพันธ์กับบุคคลระดับสูงในราชสํานักกรุงศรีอยุธยา
บันทึกของวันวลิต-สามีลับลําดับที่ 2 ของเธอกล่าวว่า “4 มกราคม ค.ศ. 1637 (พ.ศ.2180) วันที่ 4 มกราคม ออสุต พะโค (อดีตภรรยาลับของ เมียร์ไวค์) แจ้งกับข้าพเจ้าว่าช่วงเช้าของวันนั้น
พระธิดาองค์หนึ่งของพระราชินีได้เรียกนางไปที่พระราชวังและบอกกับนางว่า พระราชินีเคยมีพระประสงค์ที่จะส่งนางกํานัลคนหนึ่งในตําหนักของพระนางมาให้ข้าพเจ้า เพราะพระนางแน่ใจว่า ข้าพเจ้าได้รับความเดือดร้อนและรู้สึกเจ็บช้ำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของพระเจ้าแผ่นดิน
แต่พระราชินีทรงระงับความตั้งใจที่จะส่งเด็กสาวนั้นมาให้ข้าพเจ้าเสียแล้วเพราะความกลัว (ว่า บรรดานางสนมคนอื่นๆ ที่มีความริษยาจะนําเรื่องนี้ไปเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดิน)
…ออสุต พะโค บอกกับข้าพเจ้าอีกว่า พระราชินีทรงเสียพระทัยและขัดเคืองพระราชหฤทัยอย่างยิ่งต่อสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำ เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยประณามชาวต่างชาติอย่างรุนแรงเยี่ยงนี้มาก่อน ด้วยเหตุนี้พระนางจึงต้องการวิงวอนไม่ให้ข้าพเจ้าคิดไปในทางร้ายและเขียนรายงานไปถึงกษัตริย์และผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้า…”
ฟังดูอาจคิดว่าออสุตอาศัยบารีของสามีลับที่กุมอำนาจทางการค้า หากความจริงเป็นการสมประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และเธอเองก็มีความสามารถเฉพาะตัวอยู่ไมน้อย
เพราะเธอรู้จักบุคคลระดับผู้นำในแวดวงต่างๆ และรู้จักวิธีการที่จะติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นที่แตกต่างกันไป นี่คือจุดแข็งของออสุต ด้วยก่อนหน้านั้นสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท VOC กับทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างตกต่ำ นายโยส เซเต็น (หัวหน้าสถานคนเก่า) เคยแจ้งกับนายวันวลิตที่ถูกส่งมารักษาการแทนเขาที่ต้องเดินทางไปปัตตะเวียว่า สาเหตุอาจมาจากการไม่รู้เรื่อง “ธรรมเนียมปฏิบัติในการติดต่อกับทางราชสำนัก”
และนี่คือจุดเริ่มแรกที่นำนางออสุตมาสู่ราชสำนัก และสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ที่ทำให้นางกลายเป็นผู้หญิงทรงอิทธิพลทางการค้าในอยุธยายาวนานกว่า 2 ทศวรรษถัดมา
นางออสุตเริ่มมีบทบาทในการเป็น “ตัวเชื่อม” ของบริษัท VOC กับทางราชสำนักสยามประมาณ ปี ค.ศ. 1636 (พ.ศ.2179) เมื่อบริษัท VOC ต้องการกำจัดออกหลวงศรียศ เจ้ากรมท่าให้พ้นทางเพราะไม่เป็นมิตรกับบริษัทเท่าที่ควร
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1636 (พ.ศ.2179) นายฟาน ฟลีต ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสถานีการค้าของ VOC แล้วพยายามที่จะเข้าถึงกรมวัง คือออกญาอุไทยธรรม เขาจึงใช้เครือข่ายของฝ่ายใน โดยให้นางออสุตติดต่อผ่านนางกํานัลของมเหสีพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพระมเหสีองค์นี้มีพี่ชายเป็นเสนาบดีคลัง
และแน่นอนที่นางออสุตไม่ได้ไปด้วยมือเปล่า แต่ไปพร้อมกับของกํานัลอันมีค่าในระดับที่ผู้รับทั้งหลายพอใจ พระมเหสีจึงได้ให้นางกํานัลจัดการนําพ่อค้าให้ได้พบปะเจรจากับพระคลัง
บันทึก VOC ฉบับหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1637 (พ.ศ. 2180) ระบุว่า นายฟาน ฟลีต ส่งนางออสุตพร้อมกับของกํานัลที่เหมาะสม ไปขอยืมเงินตราสยามจากภรรยาของออกญาตะนาว อดีตผู้ควบคุมการผลิตเหรียญกษาปณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน
บันทึกของ นายฟาน คุนส์ ผู้แทนพิเศษของ VOC เดือนมกราคม ค.ศ. 1651 (พ.ศ.2194) ระบุว่า นางออสุตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภรรยาคนโปรดของออกญาสมบัติธิบาล ผู้ที่มีอิทธิพลสูงในราชสํานักจนกล่าวกันว่าสิ่งที่ออกญาสมบัติธิบาลพูดออกมานั้นเสมือนเป็นพระราชดํารัสของพระมหากษัตริย์สยาม
ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างนางออสุตและภรรยาของออกญาสมบัติธิบาลนี้ ทําให้บริษัท VOC ได้รับใบอนุญาตจากราชสํานักในการส่งออกข้าวและสินค้าอื่นๆ จํานวนมากโดยไม่ต้องนําของขวัญต่างๆ ไปเข้าหาเสนาบดีคลังที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการออกใบอนุญาต
นอกจากใบอนุญาตให้ค้าขายแบบบนโต๊ะแล้ว นางออสุตยังสามารถดําเนินการค้าแบบใต้โต๊ะผ่านเครือข่ายของเธอในราชสํานักอีกด้วย หลักฐานที่ปรากฏคือบันทึกของ นายฟาน ฟลีต ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1639 (พ.ศ. 2182) ที่รายงานกับทางบริษัทว่า นางออสุตสัญญาว่าจะลักลอบนําแร่ดีบุกซึ่งเป็นสินค้าผูกขาดของหลวงมาขายให้บริษัท VOC
ความสามารถของออสุตไม่ได้เป็นเพียงคนกลางที่คอยประสานประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น เมื่อต้องต่อสู้กับวันวลิตผู้แทนการค้าจากฮอลันดา เพื่อแย่งสิทธิที่จะเลี้ยงดูลูกสาวของเธอ ทําให้สังคมประจักษ์ว่าเธอมีฝีมือไม่ธรรมดา
เอกสารของ VOC บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในกรณีพิพาทแย่งลูกสาวกับนายฟาน ฟลีต อดีตสามี ทางบริษัท VOC พยายามช่วยนายฟาน ฟลีต เต็มที่ในการร้องขอให้ทางสยามส่งบุตรสาวทั้ง 3 คนไปให้เขา แต่นางออสุตไม่ยอมและอิทธิพลระดับไม่ธรรมดาของเธอในราชสำนักช่วยยื้อแย่งบุตรสาวทั้ง 3 คนให้อยู่ในสยามตราบจนนางสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 1658 (พ.ศ. 2201)
ร่างของเธอถูกฝังไว้ที่"หมู่บ้านฮอลันดา"ท้ายวัดพนัญเชิง ตราบกระทั่งปัจจุบัน....
Credit : สุภัตรา ภูมิประภาส
วันที่: Fri Nov 15 12:33:13 ICT 2024
|
|
|