"ไม่ขอรับเกียริติยศใดๆทั้งสิ้น!!.."
พูนศุข พนมยงค์ ดอกไม้เหล็กกลางทุ่งเผด็จการ..
www.arjanpong.com
พูนศุข เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 12 คน ของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกในรัชกาลที่ 6 กับคุณหญิงเพ็ง เธอเกิดวันอังคารที่ 2 มกราคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455)....
สำหรับการอบรมสั่งสอนจากที่บ้าน เจ้าคุณชัยวิชิตฯ มีคติว่า “อยู่อย่างจน จะไม่จน อยู่อย่างรวย จะไม่รวย” โดยสอนลูกๆ ให้เป็นคนมัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย และให้มีความคิดเป็นหลักวิทยาศาสตร์ เช่น ในยามค่ำคืน ที่มืดสนิทเพราะไม่มีไฟฉายหรือคบไฟใดๆ เจ้าคุณฯ จะพาลูกๆ เดินผ่านตรอกป่าช้าจากถนนสีลมไปสาทรเหนือ เพื่อจะได้มีความกล้าหาญ ไม่กลัวผี หรืออีกครั้งหนึ่ง มีคนผูกคอตายที่ต้นไม้ เจ้าคุณฯ ให้ไปตัดกิ่งไม้นั้นมาไว้ในบ้าน เพื่อให้ลูกๆ ดูว่าไม่มีผีติดมาด้วย จะได้เลิกกลัว....
เมื่อปรีดีสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส และกลับมารับราชการเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แล้วเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมาย ดังมียศและบรรดาศักดิ์ว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” และเป็นครูสอนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้นจึงให้ผู้หลักผู้ใหญ่มาสู่ขอพูนศุข ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471.....
ในด้านชีวิตส่วนตัวหลังแต่งงาน ในส่วนเงินเดือนที่ได้รับมา ปรีดีให้พูนศุขดูแลทั้งสิ้น เพราะเขามีรายได้จากโรงพิมพ์และค่าสอนลูกศิษย์ไว้ใช้พอแล้ว และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บางเดือนถึงขนาดลืมเงินเดือนทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องเอามาให้ที่บ้าน ภายหลังปรีดีจึงให้เจ้าหน้าที่มอบเงินเดือนให้พูนศุขโดยตรง....
ต่อมาเมื่อมีเงินพอใช้จ่ายในครอบครัวแล้ว รายได้ทางอื่นๆ เขาและเธอได้ใช้เพื่อสาธารณกุศล เช่น เงินประจำตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน....
ปี 2476 เมื่อปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นตามหลักเศรษฐกิจในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ต้องการบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ แต่ถูกเล่นงานทางการเมืองอย่างหนัก จนมีการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกกดดันให้เดินทางออกนอกประเทศ ....
เมื่อยามเผชิญมรสุมชีวิต ยามที่ปรีดีต้องพลัดพรากจากไกล พูนศุขยังดูแลลูกๆ ไม่ห่างไกล บ้านที่เหมือนจะแตกสาแหรกขาด พูนศุขก็คงความอบอุ่นให้ลูกๆ ไว้ ยามที่เดือดร้อนด้วยไม่มีหัวหน้าครอบครัวอยู่เป็นเสาหลัก พูนศุขอาศัยความที่ชอบทำอาหารและขนม จึงได้ทำขนมให้คนไปขายย่านสีลมและสวนลุมพินี เพื่อหารายได้เสริมมาจุนเจือฐานะเศรษฐกิจภายในบ้าน ปรีดีเองก็ซาบซึ้งใจในความข้อนี้ ดังได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงเธอ เมื่อปี 2512 ว่า “น้องต้องพลอยได้รับความลำบากเนื่องจากศัตรูข่มเหงพี่ แต่น้องมิได้เสื่อมคลายในความรักและความเห็นใจพี่ตลอดมา”....
ต่อมาในปี 2495 พูนศุขถูกจับกุม ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” อย่างไรก็ดีหลังฝากขังครบ 84 วันแล้วไม่สามารถหาพยานหลักฐานเอาผิดได้ พูนศุขจึงได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ประหนึ่งว่าชนชั้นปกครองจะกลั่นแกล้งครอบครัวของเธอ เมื่อไม่สามารถเล่นงานนายปรีดีได้ ก็เล่นงานพูนศุข ผู้ภรรยา และปาล บุตรชายคนโต แทน โดยปาลนั้นศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ลดโทษเหลือ 13 ปี หลังจากติดคุกราว 5 ปี จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งกึ่งพุทธกาล....
โดยในช่วงควบคุมตัวเธอไว้นั้น ตำรวจสอบปากคำได้พยายามทำสงครามจิตวิทยาอยู่เสมอ เช่น กล่าวว่ารู้หรือไม่ว่าปรีดีนอกใจ ไปมีคนอื่นแล้ว แต่เธอก็เชื่อในรักแท้ที่มีต่อกันอย่างไม่หวั่นไหว นอกจากนี้ ภาพที่ชวนเศร้าใจคือ บางครั้งช่วงสุดสัปดาห์ เธอต้องเอาดุษฎีกับวาณี บุตรสาว 2 คนเล็ก มาเลี้ยงดูในที่คุมขังด้วย....
เมื่ออายุ 86 ปี พูนศุขเขียน ‘คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน’ ไว้ถึงการจัดการงานศพของเธอ โดยในข้อที่ 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น” ....
พูนศุขจากโลกนี้ไปในคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดีพอดี เขาและเธอคงได้พบกันแล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่ง......
Credit : https://www.the101.world/phoonsuk-banomyong/
................
รายการ : #ข่าวพลังภูผา
Radio online : www.arjanpong.com
FM 89.75 MHz. #พระนครศรีอยุธยา
Time : 06.00-08.00 น./17.00-19.00 น ทุกวัน
โทร/line : 0898129392
Email : arjanpong123
วันที่: Fri Nov 15 17:55:08 ICT 2024
|
|
|