Live : พายุจ่อซัดไทย!! ใครมั่ว?!!...
www.arjanpong.com
#พายุ #ไทย #อยุธยา #พลังภูผา
หลังจากมีฝนตกหนักในหลายจุดทั่วประเทศ ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง เขื่อนหลายแห่งมีปริมาณน้ำเต็มความจุ นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนภายในอีก 5-6 วันข้างหน้า รวมถึงพายุอีก 3 ลูกที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดช่วง 2 สัปดาห์นี้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องพบกับสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่
วันนี้ (11 ต.ค.) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเพียงบางภาคเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ครั้งนี้โดนผลกระทบทั่วประเทศ และเขื่อนหลายแห่งในภาคเหนือ กลาง อีสาน เริ่มเต็มความจุ ขณะที่เขื่อนในภาคใต้ก็มีแนวโน้มจะเต็มความจุแล้วเช่นกัน
ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตที่พบว่า ประเทศจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนถึง 3 ลูกภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งลูกแรกคาดว่าน่าจะเข้าประมาณวันที่ 15-16 ตุลาคมนี้ ภาคเหนือและอีสานจะได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว
ส่วนลูกที่สอง จะเข้าในช่วงเวลาเดียวกัน ภาคใต้และภาคกลางทั้งหมดจะมีฝนตกชุก ส่วนลูกที่สาม ยังคงต้องรอการประเมินอย่างใกล้ชิด หากเกิดขึ้นจริงพายุดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคตะวันออก ซึ่งอาจทำให้อำเภอพนัสนิคม พานทอง ศรีราชา พัทยา และอำเภอเมืองมีน้ำท่วมขัง
นอกจากในพื้นที่ภาคตะวันออกและกลางแล้ว หลายจังหวัดในภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดพังงา ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ยังต้องประเมินสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดเช่นกัน และต้องเตรียมแผนการรองรับการระบายน้ำเอาไว้ด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอัพเดทสถานการณ์ทุกๆ 6 ชั่งโมง คาดว่าภายในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ จะมีรายงานที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากส่วนใดบ้าง
ส่วนปริมาณฝนสะสมในปัจจุบัน ในภาคเหนือยังไม่วิกฤติเทียบเท่าปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ปริมาณดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมกับ น้ำฝนที่จะมาพร้อมกับพายุอีก 3 ลูก ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์อาจทำให้ปริมาณน้ำในภาคเหนือเกือบเทียบเท่ากับปี 2554 แม้ว่าปริมาณน้ำจะไม่มากเท่ากับปี 54 แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในบางพื้นที่ไม่น้อย ดังนั้นทุกจังหวัดควรประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรองรับมวลน้ำที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด.......
***กรมอุตุฯยืนยัน ไม่มีพายุ 3 ลูก จ่อเข้าไทย!!..***
สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่้อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงข่าวเรื่อง เตือนภัย พายุจ่อเข้าไทย 3 ลูกซ้อน โดยระบุว่า ตามที่ นักวิชาการ และสื่อบางรายการ ได้มีการนำแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ มาคาดการณ์การเกิดพายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้า ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ โดยระบุว่า จะมีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 3 ลูก และมีผลกระทบทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม จากปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามและแจ้งเตือนภัย มีข้อแนะนำแก่ประชาชนและชี้แจงดังนี้ คือ
การทำงาน ติดตาม และพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา มีการนำผลการตรวจอากาศที่เกิดขึ้นจริง และการใช้ข้อมูลดาวเทียมในการวิเคราะห์สภาพอากาศ และยังได้มีการใช้แบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย และจากศูนย์พยากรณ์อากาศชั้นนำจากประเทศต่างๆ มาสังเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องที่สุด เนื่องจากแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์จะมีความคลาดเคลื่อนและถูกต้องน้อยลง เมื่อระยะเวลาพยากรณ์นานขึ้นเรื่อยๆ
จากการวิเคราะห์สภาพอากาศปัจจุบัน (วันที่ 12 ตุลาคม 2560) พบว่าในช่วงวันที่ 12-14 ตุลาคม 2560 บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอล ไม่มีพายุก่อตัวขึ้น เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทางด้านประเทศเมียนมา และไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประจำฤดูเท่านั้น บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีร่องมรสุมพาดผ่านทำให้มีฝนตกต่อเนื่องในระยะนี้ อาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม ที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว ในช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคม 2560
จากวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ เข้ามาบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน แต่เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาบริเวณประเทศเวียดนามในช่วงดังกล่าว ทำให้พายุนี้จะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง
สำหรับในระยะนี้บริเวณประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้หลายพื้นที่หลังจากวันที่ 17 ตุลาคม 2560
การวิเคราะห์ผลจากแบบจำลองสภาพอากาศ (ข้อมูลแบบจำลองวันที่ 12 ตุลาคม 2560) พบว่า ยังมีโอกาสที่จะมีพายุก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ แต่เนื่องจากข้อมูลจากแบบจำลองจะมีความถูกต้องน้อยลงมากเมื่อระยะเวลาพยากรณ์นานขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงไม่มีศูนย์พยากรณ์ใดที่สามารถยืนยันข้อมูลว่า มีความถูกต้องเพียงใด แต่จะเป็นสัญญาณให้นักอุตุนิยมวิทยาเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานต่างๆ ได้มีการประชุม วิเคราะห์ข้อมูล และติดตามสถานการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชน ติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยราชการเท่านั้น ในการประกาศแจ้งเตือนจะมีรายละเอียด วันและเวลาที่แน่นอน
และขออย่าได้ตื่นตระหนกจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้ทำงานรับผิดชอบโดยตรง หรือการส่งต่อกันตามสื่อออนไลน์ต่างๆ และสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1182 และหมายเลขโทรศัพท์ 0 2399 4012-3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา.....
Credit : สนุก ดอทคอม.
วันที่: Fri Nov 15 15:30:42 ICT 2024
|
|
|