ในการทำความดี ผู้มีสติสามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เว้นจากการทำความช่ัวทุกอย่าง กระทำแต่ความดี และทำจิตให้ผ่องแผ้วจากกิเลสทั้งปวง สติเป็นหลักธรรมที่มีอุปการะมาก พัฒนาจิตพิจารณารู้เท่าทันสภาพที่แท้จริง ทำให้การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข เมื่อเจริญสติให้มากยิ่งขึ้นสามารถบรรลุมรรค ผล และนิพพานได้ในที่สุด
ความรู้ตัวในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด หรือกำลังคิดอยู่ เป็นอาการของจิตที่รู้จักแยกแยะสิ่งที่ตนกำลังทำ พูด คิดอยู่นั้นว่าเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ เหมาะกับตนหรือไม่ เป็นความสุขหรือทุกข์ และเป็นความดีหรือชั่วหรือไม่อย่างไร ความรู้ชัด ความรู้ตัว เป็นลักษณะแห่งความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลานี้ เรียกว่า “สัมปชัญญะ”
“สัมปชัญญะ” เป็นธรรมที่ปฏิบัติคู่กับสติ แยกกันไม่ออก กล่าวคือสติเป็นเครื่องระลึกควบคุมยับยั้งจิตมิให้คิด พูด หรือทำชั่ว ส่วนสัมปชัญญะจะทำหน้าที่กำหนดรู้ในเวลาคิด พูด หรือทำอยู่ ดังนั้น จึงเรียกว่า สติสัมปชัญญะ
สติ ระลึกได้ทั้งในเรื่องอดีต อนาคต และปัจจุบัน ต้องใช้ในเวลาก่อนคิด พูด และทำ...สัมปชัญญะ รู้ตัวในปัจจุบัน ต้องใช้ในขณะที่กำลังคิด พูด และทำอยู่
สติและสัมปชัญญะนี้จัดเป็นกุศลธรรมที่คู่กันเสมอ จะแยกจากกันมิได้ เมื่อมีสติต้องมีสัมปชัญญะ สติเปรียบเหมือนดวงไฟ ส่วนสัมปชัญญะเปรียบเหมือนแสงสว่างของดวงไฟ
วันที่: Wed Nov 20 16:34:22 ICT 2024
|
|
|