ผู้ชายพายเรือแล้วเหตุใดผู้หญิงต้องยิงเรือ
ศุภกร เลิศอมรมีสุข
หลายๆ คนคงเคยได้ยินสำนวน “ผู้ชายพายเรือ” และ “ผู้หญิงยิงเรือ” ซึ่งในปัจจุบันหมายความว่า “ผู้ชายทั่วไป” และ “ผู้หญิงทั่วไป” ปัจจุบันนี้เราพูดสำนวนทั้งสองนี้แยกกันแต่ทราบหรือไม่ว่าในอดีตสองสำนวนนี้เป็นสำนวนเดียวกันคือ “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ” หรือ “ผู้ชายรายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” หลายๆ คนคงมีความสงสัยเหมือนผู้เขียนว่าเหตุใดในเมื่อผู้ชายพายเรือแล้วผู้หญิงต้องมายิงเรือ
จากการเรียนวิชาสัมนาภาษาไทยปัจจุบันของผู้เขียนทำให้ผู้เขียนได้คำตอบของที่มาของสำนวนดังกล่าวโดยอาจารย์ของผู้เขียนได้ให้อ่านบทความเรื่อง “ผู้ชายพายเรือ-ผู้หญิงยิงเรือ” ซึ่งเขียนโดยอาจารย์มัณฑนา เกียรติพงษ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งท่านได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับที่มาของสำนวนนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอสรุปความของบทความดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทุกๆ คนได้อ่านไว้เป็นความรู้
สำนวนนี้พบครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์โดยปรากฏในวรรณคดีเรื่องต่างๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังนี้
รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
“เหวายมนุษย์องอาจประหลาดเหลือ พาผู้หญิงริงเรือมาแต่ไหน
ทำฮึกฮักข่มเหงไม่เกรงใจ เข้าหักโค้นต้นไม้ในอุทยาน”
ไชยเชษฐ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
“เอออะไรไม่พอที่พอทาง มึงช่างชั่วชาติประหลาดเหลือ
ไม่รู้เท่าผู้หญิงริงเรือ ซานซมงมเชื่อนางเมียงาม”
พระอภัยมณี ของสุนทรภู่
“เห็นผู้หญิงริงเรือที่เนื้อเหลือง อย่ายักเยื้องเกี้ยวพานะหลานขวัญ
ล้วนนางในไม่ชั่วตัวสำคัญ จะเสียสันเสียเปล่าไม่เข้าการ”
กลอนเสภาขุนช้างขุนแผน
“ฝ่ายข้างพวกผู้หญิงริงเรือ บ่นว่าเบื่อรบพุ่งยุ่งหนักหนา
ให้เสียวไส้ไม่ดูได้เต็มตา เวทนาแต่เจ้าพลายชุมพล”
ฯลฯ
“ผู้ชายพายเรืออยู่เต็มไป จะดูเล่นหรือไรไฉนนี่
ช่างกระไรรั้ววังดังไม่มี อีพวกนนี้น่าเฆี่ยนให้เจียนตาย”
จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในอดีตเราไม่พูดว่า “ผู้
หญิงยิงเรือ” แต่เราพูด “ผู้หญิงริงเรือ” ดังนั้นจึงทำให้สรุปว่า สำนวนผู้หญิงยิงเรือนั้นไม่ได้หมายความถึงผู้หญิงคอยดักยิงเรือของผู้ชายเป็นแน่นอนแต่เป็นเรื่องของการเพี้ยนเสียงคำว่า “ริง” มาเป็น “ยิง” ในปัจจุบัน แล้วถ้าเป็นเรื่องของการเพี้ยนเสียงดังนี้แล้ว “ผู้หญิงริงเรือ” จะหมายความว่าอย่างไร
เรามีสำนวนไทยที่เกี่ยวกับ “เรือ” อยู่อีกสำนวนหนึ่งคือ “ลงเรือลำเดียวกัน” และสำนวนที่เกี่ยวกับการเดินทางทางเรือคือ “ล่มหัวจมท้าย” (โปรดสังเกตว่าสำนวนนี้ปัจจุบันเราก็เพี้ยนเป็น “ร่วมหัวจมท้าย” เสียแล้ว-ผู้เขียน) ซึ่งใช้เปรียบเทียบหรือสั่งสอนว่าเมื่อแต่งงานกันก็เปรียบเสมือน ลงเรือลำเดียวกันจะสุขหรือทุกข์ก็ร่วมกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งทำไม่ดีก็จพาอีกคนล่มจมตามไป เหมือนหัวเรือล่มไปแล้วท้ายเรือก็ต้องจมตามหัวเรือไปเป็นธรรมดา
ในเมื่อชายหญิงลงเรือลำเดียวกันแล้ว การจะพานาวาชีวิตไปถึงฝั่งใครเล่าเป็นผู้นำไปก็ต้องผู้ชายซึ่งในสังคมโบราณถือว่าเป็น “ช้างเท้าหน้า” จึงต้องทำหน้าที่ “พายเรือ” นำเรือชีวิตไปให้ตลอดรอดฝั่ง แล้วผู้หญิงล่ะจะทำหน้าที่อะไร หญิงไทยโบราณได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นกุลสตรี เป็นแม่บ้านแม่เรือน มีหน้าที่ดูแลรักษาบ้านช่องให้ทุกคนในบ้านมีความสุข
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าผูหญิงมีหน้าที่ “ดูแล” บ้านเรือน มีคำศัพท์คำว่า “หลิง” ซึ่งแปลว่า ดู เล็ง (ยังไม่สามารถหาหลักฐาน ที่มาของคำว่า หลิง ที่แปลว่าดูได้ว่ามาจากภาษาใด- ผู้เขียน) จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า “ผู้หญิงริงเรือ” มาจาก “ผู้หญิงหลิงเรือ” ซึ่งแปลว่าผู้หญิงดูเรือ นั่นเอง
ดังนั้นสำนวน “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” อาจารย์มัณฑนาจึงสรุปว่าเป็นการกำหนดหน้าที่ของสามีภรรยาซึ่งลงเรือลำเดียวกันว่าให้ฝ่ายชายเป็นผู้ออกแรงพายเรือ ซึ่งหมายถึงการทำมาหากินประกอบอาชีพ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรือ หรือดูแลทุกข์สุขของครอบครัว
ความเห็นดังกล่าวของอาจารย์มัณฑนาข้างต้นก็ยังไม่เป็นข้อยุติถึงที่มาของสำนวน “ผู้ชายรายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” หรือ “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ” แต่ที่สรุปได้ชัดเจนก็คือสำนวน “ผู้หญิงยิงเรือ” นั้นเพี้ยนมาจาก “ผู้หญิงริงเรือ” แน่นอน จึงทำให้คิดต่อไปได้ว่าถ้าเช่นนั้น ผู้ชายพายเรือจะเป็นสำนวนที่เพี้ยนมาจาก “ผู้ชายรายเรือ” ด้วยหรือไม่ เพราะสำนวนไทยมีลักษณะเป็นคำชุดคล้องจองกัน ถ้าเช่นนั้นก็เป็นที่น่าศึกษา ค้นคว้ากันต่อไปว่าแล้ว “ผู้ชายรายเรือ” นั้นแปลว่าอะไร ถ้าทราบความหมายของผู้ชายรายเรือก็น่าจะเป็นกุญแจไขไปสู่ที่มาและความหมายที่แท้จริงของ “ผู้หญิงริงเรือ” ได้
ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องสำนวนไทยจึ่งขอยกตัวอย่างสำนวนที่ไม่ค่อยคุ้นหูในปัจจุบัน และสำนวนที่มักมีผู้ใช้หรือพูดกันผิดๆ ไว้ให้ได้สังเกตกัน โดยผู้เขียนนำข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากบทออกอากาศทางสถานีวิทยุการศึกษา และบทความที่อาจารย์ของผู้เขียนนำมาให้อ่านในชั้นเรียนซึ่งบางส่วนไม่ได้ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไว้ ทำให้ไม่สามารถระบุการอ้างอิงในบรรณานุกรมได้ครบถ้วน
ได้แกงเทน้ำพริก หมายถึง ได้ใหม่ลืมเก่า
เงื้อง่าราคาแพง หมายถึง ทำอะไรไม่กล้าตัดสินใจลงไป ตีแต่วางท่าหรือทำ
ท่าว่าจะทำเท่านั้น
ไฟสุมขอน หมายถึง อารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ในใจ
ซื้อวัวหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว,
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ หมายถึง ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของ
แพง ทำอะไรไม่เหมาะสมกับ กาลเวลา
ย่อมได้รับความเดือดร้อน
เถรส่องบาตร หมายถึง คนที่ทำอะไรตามเขา ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว
กินแกลบกินรำ หมายถึง คนโง่ เช่น ฉันไม่ใช่พวกกินแกลบกินรำอย่ามาหลอกเสียให้ยาก ปัจจุบันสำนวนนี้ดูจะตัดสั้นลงเหลือแต่เพียง “กินแกลบ” และความหมายก็ผิดเพี้ยนไปกลายเป็น อดอยาก ไม่มีจะกินกิน ไปเสีย เช่น เพิ่งต้นเดือนเงินเดือนก็หมดแล้วคงต้องกินแกลบไปทั้งเดือน
กงเกวียนกำเกวียน มักพูดกันเป็น กงกำกงเกวียน บางคนเขียนเป็น กงกรรมกงเกวียน เสียด้วยซ้ำ สำนวนนี้แปลว่าทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลกรรมนั้นตอบสนอง มีที่มาจากล้อของเกวียนที่ประกอบด้วย กง คือ วงล้อที่อยู่ด้านนอก และ กำ คือ ซี่ล้อ เมื่อกงหมุนไปที่ใด เปรียบกับคนที่ทำกรรมอะไรไว้ ซี่ล้อหรือกำซึ่งเปรียบกับผลกรรมหรือผลแห่งการกระทำก็จะหมุนตามกงหรือการกระทำนั้นไปเสมอ
ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ที่แปลว่าค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำแล้วจะสำเร็จผล ปัจจุบันมักเหลือพร้าแค่เล่มเดียว เป็นช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
สองแง่สองง่าม บางคนพูดเป็น สองแง่สามง่าม ซึ่งไม่ถูก ของเดิมมีแค่สองเท่านั้น
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คนสมัยนี้แลดูจะ ”โลภ” มากขึ้นยิงปืนนัดเดียวแต่หวังนกหลายตัว ขอให้จำไว้ว่าแต่เดิมยิงปืนนัดเดียวหวังได้นกเพียงหนึ่ง ถ้าโชคดีได้นกเพิ่มมาอีกตัวเป็นสองตัวก็นับว่าโชคดีแล้ว
ไก่เห็นนมไก่ งูเห็นตีนงู แปลว่าผู้ที่เป็นพวกเดียวกันย่อมมองเห็นเล่ห์เพทุบายหรือเข้าใจในการปฏิบัติของกันและกันได้ดี แต่ปัจจุบันเรามักพูดสำนวนนี้ ”ผิดเพี้ยน สลับกัน” เป็น “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ความหมายก็เพี้ยนไปจากเดิมคือกลายเป็น ต่างฝ่ายต่างล่วงรู้ความรับของอีกฝ่ายไปเสีย
เพื่อยืนยันความถูกต้องของสำนวน “ไก่เห็นนมไก่ งูเห็นตีนงู” จึงขอยกโคลงโลกนิติ พระนิพน์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ความว่า
“ตีนงูงูไซร้หาก เห็นกัน
นมไก่ไก่สำคัญ ไก่รู้
หมู่โจรต่อโจรหัน เห็นเล่ห์ กันนา
เชิงปราชญ์ฉลาดกล่าวผู้ ต่างรู้เชิงกัน”
ขายผ้าเอาหน้ารอด แปลว่ายอมสละแม้ของที่จำเป็นเพื่อรักษาชื่อเสียงที่มีอยู่ คนปัจจุบันแค่ขายผ้าคงไม่หนำใจหรือคงไม่พอจะรักษาชื่อเสียงที่มีอยู่เลยต้องถึงกับ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” เลยทีเดียว มิหนำซ้ำความหมายก็ดูจะ “ผิดเพี้ยน” ไปคือหมายถึงทำสิ่งใดพอให้พ้นตัวไป
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน หมายความว่า จะทำอะไรให้ใครต้องถามความพอใจของผู้ได้รับ เหมือนปลูกบ้านเรือนก็ต้องถามความพอใจของผู้อยู่อาศัย ผูกอู่ หรือผูกเปล ก็ต้องถามผู้นอนว่าพอใจหรือยัง คนในปัจจุบันคงไม่ค่อยได้นอนเปลแล้วจึงไม่ค่อยรู้จักกริยา ผูก มิหนำซ้ำยังไม่รู้ด้วยว่า อู่ แปลว่า เปล รู้จักก็แต่อู่รถ จึงหันไป “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน” กันเป็นแถว สงสัยคนปัจจุบันคงจะย้ายที่นอนไปนอนในอู่รถด้วย
ตื่นก่อนไก่, หัวไก่โห่ ปัจจุบันเรามักพูด ”ผิดเพี้ยน” โดยเอาสองสำนวนนี้มารวมกันเป็น “ตื่นแต่ไก่โห่”
ไม่แน่ไม่แช่แป้ง หมายถึงถ้าไม่มั่นใจย่อมไม่ลงมือกระทำ สำนวนนี้เกี่ยวข้องกับการทำอาหารขนมโบราณซึ่งมีแป้ง กะทิ และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก และการที่จะแปรรูปข้าวให้เป็นแป้งก็ต้องเอาข้าวสารมาแช่น้ำแล้วจึงนำมาโม่ให้เป็นแป้งสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำขนม หากแช่ข้าวสารแล้วไม่โม่ข้าวนั้นก็จะเสียไปไม่สามารถนำมาหุงได้เนื่องจากข้าวสารจะบานหมด ปัจจุบันเราก็มักพูดเพี้ยนไปเป็น “แน่เหมือนแช่แป้ง” ซึ่งไม่สื่อความหมายเอาเสียเลยว่าการแช่แป้งนี่แสดงความแน่นอนอย่างไร
จากตัวอย่างการใช้สำนวนผิดข้างต้นอาจจะเพราะความไม่รู้ และความไม่เข้าใจสังคมตลอดจนวัฒนธรรมโบราณ อีกทั้งสังคมปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก หลายๆ สิ่งก็เปลี่ยนไป เลือนหายไป คนปัจจุบันที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นสังคมวัฒนธรรมโบราณจึงดัดแปลงสำนวนที่มีมาซึ่งฟังแล้วไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ ไปตามความรู้สึกส่วนตัว
เจตนาที่ยกเอาสำนวนต่างๆ เหล่านี้มากล่าวไม่ได้ต้องการ “จับผิด” หรือว่าไม่ควรจะคิดสำนวนใหม่ๆ ใช้ในภาษาไทย อันที่จริงการคิดสำนวนใหม่ใช้ในภาษาเป็นสิ่งที่ดีแสดงให้เห็นความงอกงามของภาษา แต่ในเมื่อเรามีสำนวนที่เป็นของเก่าใช้สื่อความกันมาก่อนอยู่แล้วก็ควรจะช่วยกันรักษาไว้เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ไม่จะควรทำลายให้มรดกที่ได้รับสืบทอดนี้สูญหายไป
***************************************************