อานิสงค์ของการให้ทาน
การทำทาน ได้แก่ การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้นจะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมาก หรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบหรือถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ๓ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
องค์ประกอบข้อ ๑ " วัตถุทานทีให้ต้องบริสุทธิ์ "
เป็นสิ่งของที่ตนได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง
องค์ประกอบข้อ ๒ " เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์ "
การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ และความตระหนี่เหนียวแน่น ขจัดความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน และมุ่งหมายที่จะสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุข ด้วยเมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตาพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์กล่าวคือ จะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ
๑. ระยะก่อนจะให้ทาน มีจิตใจโสมนัส ร่าเริงเบิกบาน ยินดีที่จะให้ทาน
๒. ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน มีจิตใจโสมนัส ร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
๓. ระยะหลังจากได้ให้ทานไปแล้ว หลังจากให้ทานไปแล้วนั้นก็ดี นานมาแล้วก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัส ร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้นๆ
องค์ประกอบข้อ ๓. " เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ "
คำว่าเนื้อนาบุญ ในที่นี้ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ให้ทานนั้นเอง บุคคลผู้รับของที่เราให้ทานนั้น เป็นเงื่อนไขหนึ่ง เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้รับทานนี้ หากผู้รับเป็นผู้มีศีลมีธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่ได้ทำแล้ว ก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับทานเป็นผู้ไม่มีศีลมีธรรม ผลของทานก็คือได้บุญน้อย (รายละเอียดเนื้อนาบุญ เป็นลำดับ จะขอกล่าวในครั้งต่อไป)
วันที่: Wed Nov 20 18:44:51 ICT 2024
|
|
|