การใช้ยาและยาสมุนไพรอย่างเหมาะสมในชายวัยทอง
พ.อ.รศ.บพิตร กลางกัลยา
ภาควิชาเภสัชวิทยากองการศึกษา
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
พ.อ.สายัณห์ สวัสดิ์ศรี
คลินิกชายวัยทอง รพ.พระมงกุฎเกล้า
หลักการพิจารณาการใช้ยาสมุนไพร
1. อะไรเป็นพยาธิสภาพที่ต้องการบำบัดรักษา
มีคำถามที่ผู้ป่วยหรือแม้แต่ญาติของเราเองชอบถาม ก็คือว่าจะใช้ยาสมุนไพรชนิดนั้นชนิดนี้ดีหรือไม่ วัตถุประสงค์การใช้ส่วนใหญ่ก็มักเป็นเรื่องบำรุงสมอง ป้องกันอาการหลงลืม ซึ่งในกรณีนี้สามารถใช้เป็นกรณีตัวอย่างของหลักการใช้ยาสมุนไพรในผู้สูงอายุได้
อาการหลงลืมมีสาเหตุจากหลายปัจจัยมาก แต่อาจแบ่งกว้างๆ เป็นกลุ่มใหญ่ ได้แก่
1) สาเหตุจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (vascular dementia)
2) สาเหตุจากการได้รับสารพิษหรือเชื้อโรค
3) เกิดจากกลไกภายในสมองเองที่มีการเสื่อมของเซลล์ตามอายุขัยเป็นเหตุให้เซลล์ประสาท มีการทำลายตัวเอง (apoptosis) ซึ่งมีปัจจัยทั้งทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นกลไกกระตุ้นกระบวนการ ดังกล่าว
สมองของคนซึ่งมีน้ำหนักเพียงร้อยละ 2-2.5 ของน้ำหนักตัว แต่ต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงมากกว่าอวัยวะอื่นใด คือมีปริมาณเลือดไปที่สมองคิดเป็นร้อยละ 18-20 และการใช้อ๊อกซิเจนคิดเป็นร้อยละ 20-25 ของร่างกายทั้งหมด มีปัจจัยหลายประการที่จะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเสื่อม และสภาพจากความแก่ทั่วๆ ไป การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเด็กและผู้ใหญ่พบว่า เด็กอายุ 5 ขวบ มีการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองประมาณ 100 มล. ต่อกรัมต่อนาที ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 20 ปี มีค่าดังกล่าวลดลงเหลือ 55-58 มล.ต่อกรัมต่อนาที จากรายงานหลายกลุ่มพบว่าค่าดังกล่าวไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างกลุ่มอายุ 20, 57 และ 72 ปี นอกจากผู้ป่วยที่มีโรค artereosclerosis การไหลเวียนของเลือดอาจลดลงร้อยละ 10-20 การใช้อ๊อกซิเจนของสมองในผู้สูงอายุก็ไม่แตกต่างจากคนหนุ่มสาวมากนัก การใช้กลูโคสมีค่าต่ำกว่าเล็กน้อย
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการใช้ยาสมุนไพรเพื่อป้องกันหรือรักษาอาการสมองเสื่อม หรือหลงลืมจึงจำเป็นต้องรู้สาเหตุดังกล่าวก่อนเพื่อพิจารณาได้ว่ายาสมุนไพรจะสามารถไปแก้ไขที่สาเหต ุหรือแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
2. ยาสมุนไพรมีผลอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น อาการหลงลืมที่เกิดจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่พอ ยาที่ใช้แก้ไขอาการได้ผลมักจะมีผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1) ขยายหลอดเลือดภายในสมอง เพื่อให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
2) ลดความเหนียวข้นของเลือด เช่น ลดการเกาะกันของเกร็ดเลือด เพื่อให้การไหลของเลือดคล่องขึ้น
3) เพิ่มสารอาหารและออกซิเจนให้สามารถนำไปใช้ที่สมองมากขึ้น
ส่วนอาการหลงลืมที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อม เช่น ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีการทำลายเซลล์หลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ของสารส่งกระแสประสาท acetylcholine ลดลงอย่างมาก หลักการพิจารณาสำหรับการใช้ยาหรือยาสมุนไพรอาจใช้ฤทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1) เพิ่มการสร้าง acetylcholine ในสมอง ซึ่งการเพิ่มปริมาณสารเริ่มต้น (precursor) เป็นวิธีการที่สามารถเพิ่มการสังเคราะห์ acetylcholine ได้ระดับหนึ่งจึงมีการใช้อาหารเสริม เช่น เลคซิติน (ซึ่งมี phosphatidylserine) เป็นการเพิ่มสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์ acetylcholine ในสมองแต่จะสามารถสังเคราะห์มาทดแทนส่วนที่ขาดได้เพียงพอหรือไม่จะต้องพิจารณากันอีกที
2) ลดการทำลาย acetylcholine ในสมอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้ง acetylcholine esterase ซึ่งจะสามารถเพิ่ม acetylcholine ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) กระตุ้น acetylcholine receptor แต่มีข้อจำกัดในการหายาที่เลือกออกฤทธิ์เฉพาะ receptor ในสมอง โดยไม่มีผลเสียต่อ receptor นอกสมอง ซึ่งหาได้ยาก
4) ยาที่มีผลกระตุ้นหรือยับยั้งการทำหน้าที่ของสารส่งกระแสประสาทอื่นๆ หรือกระตุ้น metabolism ในสมอง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่จำเพาะเพียงพอว่าต้องมีผลต่อระบบใดบ้าง ยาสมัยใหม่และยาสมุนไพรหลายชนิดอาจเข้าข่ายการออกฤทธิ์อย่างไม่จำเพาะเจาะจงดังกล่าว แต่ผลรวมให้ผลดีต่อผู้ป่วยได้ เช่น ยากลุ่มที่เรียกเป็น nootropics, neurotonics, cerebral activators เป็นต้น
5) ยาหรือยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการเกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำลายเซลล์ประสาท (free radical scavengers, antioxidants, neuroprotectives)
6) วิตามิน หรือฮอร์โมน หรือยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์หลายๆ อย่างรวมกัน
จะเห็นได้ว่าเพียงกรณีตัวอย่างเรื่องโรคสมองเสื่อมและอาการหลงลืม ยังมีพยาธิสภาพที่แตกต่างกัน และมีแนวทางการรักษาสำหรับแต่ละพยาธิสภาพอีกหลากหลายวิธี ยาสมุนไพรที่จะใช้จึงควรมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีผลต่อกลไกข้อใดในหลายๆ วิธีที่กล่าวมาแล้วจึงจะสามารถสนับสนุนให้มีการใช้ในระดับโรงพยาบาลได้
3. รายการยาสมุนไพรที่มีข้อบ่งใช้ในผู้สูงอายุ
เพื่อพิจารณาข้อมูลของสมุนไพรบางชนิด ที่มีผลการศึกษาแสดงว่ามีผลทางเภสัชวิทยาและมีข้อบ่งใช้ สำหรับบำรุงหรือรักษาโรคในผู้สูงอายุ จะรวบรวมเฉพาะรายการที่มีผู้สนใจกันมาก ดังนี้
3.1 แปะก๊วย (Ginkgo biloba)
สารสำคัญในสมุนไพรแปะก๊วยมีอยู่ 2 กลุ่มคือ flavoglycosides ที่มีฤทธิ์เป็น antioxidant หรือ จับกับสารอนุมูลอิสระ และสารกลุ่ม terpenes (bilobalides, ginkgolides) มีฤทธิ์ยับยั้งการออกฤทธิ์ของ platelet activating factor (PAF) และลดการเกาะกันของเกร็ดเลือด ลดการแข็งตัวของเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
จะเห็นได้ว่าข้อมูลการออกฤทธิ์ของแปะก๊วยน่าสนใจมาก และน่าจะตรงกับหลักการใช้ยาป้องกันอาการสมองเสื่อมหรือลดอาการหลงลืม ทั้งจากสาเหตุการไหลเวียนเลือด และสาเหตุการทำลายเซลล์ประสาท ในหลายประเทศรับรองให้มีการใช้เป็นยาสำหรับโรคสมองเสื่อมได้ ถึงแม้ว่าข้อมูลการวิจัยทางคลินิกในต่างสถาบัน จะให้ผลออกมาไม่เหมือนกันซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การเลือกส่วนประกอบของสารที่ออกฤทธิ์ การคัดเลือกอาสาสมัครหรือผู้ป่วย วิธีการวัดผลในเรื่องความจำ การรับรู้สิ่งกระตุ้น และความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งมีหลากหลายวิธี การวิจัยในคนจึงยังมีเรื่องที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมอยู่อีกมาก เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของสมุนไพรแปะก๊วย
นอกจากนี้แปะก๊วยยังมีข้อบ่งใช้สำหรับแก้ไขอาการหูหนวกอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมีสาเหตุจากการเสื่อมของเส้นประสาท หรือที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ผลการศึกษาโดยใช้สาร EGb761 พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการกลับได้ยินอีก โดยมีผลเท่ากับยา naftidofuryl ที่ใช้กันอยู่
ส่วนผลข้างเคียงของแปะก๊วย มีรายงานการเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้ ซึ่งอาจเกิดจากผลลดการเกาะกันของเกร็ดเลือด เป็นข้อมูลที่ควรสนใจและระมัดระวัง เช่น ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานๆ หรือใช้ในขนาดสูง หรือใช้ร่วมกับยาที่มีผลลดการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) อย่างไรก็ตามอาการเลือดออกในสมองเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้มาก และมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ จึงควรมีการศึกษาที่พิสูจน์ความสัมพันธ์กับการใช้ยาแปะก๊วยให้ชัดเจน หากพบว่าเป็นสาเหตุจริงสมควรให้เลิกใช้ยานี้ เหมือนกับกรณีที่ให้เลิกใช้ยา phenylpropanolamine (PPA)
3.2 โสม
โสมที่มีการใช้กันมาก ได้แก่ โสมเกาหลี และโสมจีน (Panax ginseng) นอกจากนี้ยังมีโสมไซบีเรีย (Siberian ginseng, Eleutherococcus senticosus) และโสมอเมริกัน (Panax quinquefolium) สารประกอบที่สำคัญในโสมมีอยู่หลายชนิดหลายกลุ่ม ที่สำคัญคือกลุ่ม triterpenoids, saponins, glycosides (ginsenosides, panaxosides) และยังมี polysaccharides, flavonoids และอื่นๆ (สารสกัดมาตรฐานมักอ้างอิงว่ามี ginsenosides ไม่ต่ำกว่า 7%) ฤทธิ์ของโสมจึงมีได้หลากหลาย มีผลรวมในด้านการบำรุงร่างกาย เจริญอาหาร เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และมีผลการวิจัยที่เชื่อถือได้มากพอสมควรที่ศึกษา ยืนยันว่าการใช้โสมมีผลเพิ่มความจำได้
ข้อควรระวังสำหรับการใช้โสมคืออาจมีผลเพิ่มความดันโลหิต จึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง รวมทั้งยาลดน้ำตาลในเลือด
3.3 กระชาย (Boesenbergia pandurata)
สรรพคุณในตำรายาไทย ใช้แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะ แก้ฝี แผลในปาก แก้กามตายด้าน บำรุงกำหนัด บำรุงกำลัง กระตุ้นหัวใจให้เต้นสม่ำเสมอ แก้ลม ขับระดูขาว แก้มุตกิต เป็นยาอายุวัฒนะ
ข้อมูลการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบผลต้านการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ลดไข้ แก้อักเสบ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันสำหรับการออกฤทธิ์บำรุงสมอง หรือกระตุ้นทางเพศ
3.4 กวาวเครือขาว (Pueraria candollei)
สรรพคุณในตำรายาไทยใช้หัวกวาวเครือเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง บำรุงสุขภาพ บำรุงความกำหนัด แต่มีข้อห้ามมิให้คนหนุ่มสาวรับประทาน
สารสำคัญในกวาวเครือขาวมีหลายกลุ่ม ได้แก่ coumarins, flavonoids, chromenes (miroestrol), steroids (?-sitosterol) และสารอื่นๆ อีกหลายชนิด ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน (estrogenic effect) ฤทธิ์คุมกำเนิด และมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน
3.5 ขี้เหล็ก (Cassia siamea)
ตำรับยาไทยมีการใช้ดอกและใบอ่อน เป็นยานอนหลับ ยาระบาย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต แก่นและรากใช้แก้ไข้ และทำให้นอนหลับได้ด้วย
สารสำคัญในดอกและใบขี้เหล็กที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ และใช้เป็นตัวบอก (marker) ปริมาณของสารสกัดที่ใช้ในการทดลองต่างๆ คือ anhydrobarakol มีข้อมูลฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อรา ลดความดันโลหิต และผลต่อสมองโดยมีผลต่อการทำหน้าที่ของระบบโดปามีน และซีโรตานิน มีผลคลายเครียด และทำให้หลับ ผลการทดลองทางคลินิกพบว่าทำให้ผู้ป่วยหลับได้เร็วขึ้นและมีการตื่นในเวลากลางคืนน้อยครั้งลง
มีรายงานอาการพิษต่อตับจากการใช้ยาในผู้ป่วยซึ่งยืนยันได้ว่าเกิดจากการใช้ยาขี้เหล็กแคปซูล นับว่าเป็นข้อมูลที่ทำให้การพัฒนายาสมุนไพรขี้เหล็กต้องชะงักลงอย่างมาก น่าจะหาทางศึกษาเพิ่มเติมว่าพิษดังกล่าวขึ้นกับวิธีการเตรียมยาหรือไม่ และจะสามารถหาวิธีใช้ยานี้ให้ปลอดภัยในอนาคตได้อย่างไร
3.6 ใบบัวบก (Centella asiatica)
เป็นสมุนไพรที่มีการบันทึกอยู่ในตำราอายุรเวทด้านสรรพคุณเพิ่มสมาธิและความจำ แก้โรคเส้นประสาท บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช้ำใน ฟกช้ำ แก้ปวดประจำเดือน และแก้ท้องเสีย มีสารสำคัญ ได้แก่ asiaticosides และ asiatic acid ข้อมูลทางเภสัชวิทยาพบฤทธิ์เพิ่มสาร antioxidants รักษาแผล ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านมะเร็ง ลดความดันเลือด ขยายหลอดเลือด เพิ่มการไหลเวียนเลือด และอาจมีฤทธิ์คลายวิตกกังวลได้ด้วย โดยพบว่ามีผลเสียน้อย
3.7 บัวหลวง (Nelumbo nucifera)
มีตำรายาที่ใช้ดีบัวและเกษรบัวเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้อาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ มีสารสำคัญ กลุ่ม alkaloids หลายชนิด (liensinine, neferine) มีข้อมูลผลการศึกษาฤทธิ์ลดความดันเลือด เพิ่มการเต้นของหัวใจ ลดการเกาะกันของเกร็ดเลือด ลดไข้ ต้านอักเสบ ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และเพิ่มฤทธิ์ยานอนหลับได้ จึงเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจ
3.8 ยอ (Morinda citrifolia)
การใช้น้ำลูกยอกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินงานด้านการตลาดของผู้ผลิตและนำเข้าในเชิงพาณิชย์ ตำรายาไทยใช้ผลดิบหรือผลห่าม รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ฝานเป็นชิ้นบางๆ ย่างหรือคั่วไฟอ่อนๆ ให้เหลือง ประมาณ 2 กำมือ ต้มหรือชงกับน้ำจิบทีละน้อย
ข้อมูลการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบผลต้านแบคทีเรีย ระงับปวด ต้านอาเจียน ต้านมะเร็ง และมีผลต่อพฤติกรรมในสัตว์ทดลอง คือลดการเคลื่อนไหวและเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ
สำหรับฤทธิ์ต้านมะเร็งที่มีความสนใจกันมากนั้น ส่วนมากยังอยู่ในขั้นทดสอบกับสัตว์ทดลอง โดยวัดผลของการกินอาหารผสมใบยอแห้ง และวัดผลต่อเอนไซม์ในตับหลายชนิดที่มีบทบาท ต่อการเกิดมะเร็ง ยังไม่มีข้อมูลการประเมินผลของยาในผู้ป่วยที่จะสามารถบอกได้ว่าน้ำสกัดใบยอ มีฤทธิ์ลดมะเร็งได้จริงหรือไม่
3.9 หญ้าปักกิ่ง (Murdannia loriformis)
มีการอ้างสรรพคุณของน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง เพื่อรักษาโรคมะเร็ง แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางเภสัชวิทยาหรือ ทางคลินิกสนับสนุน
3.10 น้ำมันปลา
น้ำมันปลา หมายถึงน้ำมันที่ได้จากปลา มีมากในกลุ่มปลาทูน่า ซาร์ดีน ส่วนประกอบที่สำคัญคือ โอเมก้า-3 (omega-3 fatty acid) เป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว ชนิด polyunsaturated fatty acid เมื่อเข้าไปในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น eicosapentaenoic acid (EPA) และ decosahexaenoic acid (DHA) ซึ่งมีข้อมูลว่ามีคุณประโยชน์หลายด้าน เช่น ลดการสังเคราะห์ PGE2, TXA2, LTB2 ลดไขมัน triglyceride ขยายหลอดเลือด ลดการเกาะกันของเกร็ดเลือด มีข้อสนับสนุนให้ใช้ร่วมกับการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน นอกจากนี้อาจใช้ในสตรีตั้งครรภ์และเด็กได้ด้วย แต่ก็ควรระมัดระวังในกรณีที่อาจมีผลทำให้เลือดไหลไม่หยุด และไม่ควรใช้ร่วมกับยาลดการแข็งตัวของเลือด
3.11 St. John’s Wort (Hypericum perforatum)
เป็นสมุนไพรของประเทศในแถบยุโรป เดิมเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ดอกมีสีเหลืองและมีจุดสีดำ ซึ่งเมื่อบีบจะมีของเหลวสีแดงซึมออกมา ซึ่งมีตำนานเล่าว่าเป็นเลือดของนักบุญเซนต์จอห์น มีการใช้ดอกไม้นี้ในพิธีขับไล่ภูติผีวิญญาณร้าย และต่อมามีการใช้ในผู้ป่วยซึมเศร้า พบว่าได้ผลที่น่าสนใจ มีการใช้กว้างกว้างมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญได้แก่สารกลุ่ม hypericins, glycosides, biflavones, proanthocyanidins และน้ำมันระเหยอีกหลายชนิด กลไกการออกฤทธิ์ของสารเหล่านี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เคยเชื่อกันว่า hypericin มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ MAO แต่ต่อมาพบว่าไม่ใช่ เนื่องจากยาต้านซึมเศร้าส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ผ่านระบบนอร์อดรีนาลีน และซีโรโตนิน และยาใหม่ๆ ส่วนมากเลือกออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโตนิน จึงเชื่อว่าสารในสมุนไพรชนิดนี้ อาจมีฤทธิ์ทางอ้อมต่อการทำงานของซีโรโตนิน เช่น ยับยั้ง reuptake หรือมีการปรับจำนวน receptors ทำให้มีประสิทธิภาพต่ออาการซึมเศร้าถึงขั้นที่นำไปเปรียบเทียบกับ fluoxetine (Prozac?) การวิจัยผลของยาในผู้ป่วยซึมเศร้าพบว่ายานี้ให้ผลดีกว่ายาหลอก และให้ผลใกล้เคียงกับยาต้านซึมเศร้า ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้จำหน่าย และข้อบ่งใช้ก็เป็นแบบยารักษาโรคซึมเศร้า จึงเชื่อว่ายังมีขั้นตอนการขออนุมัติอีกนาน การใช้เป็นอาหารเสริมก็คงไม่เหมาะสมแน่ แต่ข้อมูลที่มีอยู่เป็นเรื่องน่าสนใจ ที่จะติดตามสมุนไพรชนิดนี้ต่อไป
สรุปและข้อควรระวัง
การใช้ยาในผู้สูงอายุ
ปัญหาผลข้างเคียงของยาที่เกิดในผู้สูงอายุ เกิดได้ทั้งจากสาเหตุการเปลี่ยนแปลงการดูดซึม การกระจาย เมตาโบลิสม การขับถ่าย และกลไกการตอบสนองต่อยา โดยระบบที่เป็นปัญหาได้มากคือ ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด และยาที่มีปัญหาได้มากคือ กลุ่มที่มีค่าความแตกต่างระหว่างผลเสียและผลการรักษา (therapeutic index) ต่ำ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เช่น ยาระงับชัก ยาลดน้ำตาลในเลือด ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันเลือด ยาต้านมะเร็ง ยาลดการเกาะกันของเลือด (anticoagulants) ยาแก้หอบหืด (theophylline) ยาหัวใจ (digoxin) ยาทางจิตประสาท (tricyclic antidepressants, lithium carbonate, barbiturates, alcohol) และยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม (aminoglycosides) ผลเสียที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ตาพร่า หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ หน้ามืดเป็นลมเมื่อลุกขึ้นยืน ความดันเลือดต่ำหรือสูงผิดปกติ ฯลฯ เป็นต้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรทำความเข้าใจข้อมูลการตอบสนองต่อยาในผู้สูงอายุอย่างละเอียด เมื่อจำเป็นต้องให้การบำบัดรักษา อีกทั้งยังต้องสอบถามประวัติการได้รับยา และการบำบัดรักษาโรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ เพื่อตระหนักถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน รวมทั้งปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหารหรืออาหารเสริม และยาสมุนไพรต่างๆ ที่นิยมใช้ในผู้สูงอายุ เป็นข้อที่ควรระวังเช่นเดียวกัน
การใช้ยาสมุนไพร
การใช้ยาหรือสมุนไพรทุกชนิดเพื่อการป้องกันหรือบำบัดรักษาโรค จำเป็นต้องพิจารณาหลักการพื้นฐานเหมือนกันทุกครั้งว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร มีพยาธิวิทยาอย่างไร มีทางเลือกในการรักษาอย่างไร ยาที่เลือกใช้ได้มีกลุ่มใดบ้าง ออกฤทธิ์เพื่อแก้ไขหรือป้องกันพยาธิสภาพอย่างไร ตรงกับสาเหตุหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และคุ้มกับราคาที่จะต้องจ่ายไปมากน้อยเพียงใด การยึดหลักการพื้นฐานเช่นนี้จะสามารถ ตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาหรือสมุนไพรทุกอย่างได้อย่างเหมาะสม
สำหรับยาสมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจอยู่มากในขณะนี้ นอกจากคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยตรง และหลักฐานด้านประสิทธิภาพหรือผลทางเภสัชวิทยาของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดแล้ว ผลข้างเคียงและผลเสียอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาสมุนไพรโดยตรง และปัญหาเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
วันที่: Thu Apr 24 17:34:40 ICT 2025
|
|
|